ผลของการฝึกหายใจเข้าช้าร่วมกับแรงต้านต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย: การศึกษานำร่อง
วัจนารัตน์ พันธ์วงศ์, ชุลี โจนส์*, ฉัตริน วงษ์สวัสดิ์, ฉัตรชัย พิมพศักดิ์, พรอนันต์ โดมทอง
สาขาวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอนแก่น
บทคัดย่อ
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคร่วมของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่พบมากและเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจที่เป็นสาเหตุของการตายในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการฝึกหายใจเข้าช้าร่วมกับแรงต้านเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของการฝึกหายใจเข้าช้าร่วมกับแรงต้านต่อระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในผู้สูงอายุที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เป็นโรคความความโลหิตสูงและได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต อาสาสมัครเพศชาย 10 คน อายุ 69.6± 6.06 ปีถูกสุ่มเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 5 คน คือ กลุ่มที่ได้รับการฝึกหายใจเข้าช้าร่วมกับแรงต้าน ซึ่งฝึกหายใจช้าร่วมกับแรงต้านร้อยละ 30 ของแรงดันสูงสุดในการหายใจเข้า 6 ครั้งต่อนาที30 นาทีต่อวัน ทุกวัน 8 สัปดาห์และกลุ่มควบคุมซึ่งฝึกหายใจช้าเช่นเดียวกันแต่ไม่มีแรงต้าน อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม ฝึกหายใจตามโปรแกรมที่บ้าน โดยไม่ได้ร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอื่น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงการรักษาด้วยยา ตลอดการศึกษาอาสาสมัครวัดและบันทึกความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจก่อนและหลังสิ้นสุดการฝึกหายใจตามโปรแกรม ทำการประเมินความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจในตอนเช้าที่บ้านด้วยตนเอง ทุกวัน เป็นเวลา 7 วัน ใช้ค่าเฉลี่ยมาเปรียบเทียบผลของการฝึก ผลการศึกษาพบว่าในกลุ่มที่ได้รับการฝึกหายใจเข้าช้าร่วมกับแรงต้าน ความดันโลหิตระหว่างก่อนและหลังสิ้นสุดการฝึกหายใจ (median (IQR)) ทั้งความดันซิสโตลิก 117.14 (115.29,122.21) และ 121.43 (116.71,122.43) มิลลิเมตรปรอท และไดแอสโตลิก63.57(61.14,74.86)และ66.67(61.43,79) มิลลิเมตรปรอท ไม่มีความแตกต่างทางสถิติรวมไปถึงอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน (76;73,77)และ72;70,76ครั้งต่อนาที)ส่วนในกลุ่มควบคุม ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรตามทั้งสองเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงสรุปว่าการฝึกการหายใจเข้าช้าร่วมกับแรงต้านไม่มีผลต่อความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจขณะพักในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีโรคความดันโลหิตสูงซึ่งรักษาด้วยยาลดความโลหิตด้วย
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2562, September-December ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 428-438
คำสำคัญ
hypertension, โรคความดันโลหิตสูง, copd, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, Slow loaded inspiratory breathing, การฝึกหายใจเข้าช้าร่วมกับแรงต้าน