การศึกษาเปรียบเทียบผลทันทีระหว่างการนวดไทยกับการยืดค้างกล้ามเนื้อแบบทำให้ต่อการเปลี่ยนแปลงอ่าการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อและความสามารถในการเดินในเด็กสมองพิการ
พิศมัย มะลิลา*, อาภาภรณ์ ห้าวหาญ, จุรีภรณ์ แก้วจินดา, พรรณี ปิงสุวรรณ
สาขาวิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์;  เพื่อเปรียบเทียบผลทันทีระหว่างการนวดไทยกับการยืดค้างกล้ามเนื้อแบบทำให้ต่อการเปลี่ยนแปลงอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อและระยะทางการเดิน 1 นาทีในเด็กสมองพิการ
วิธีการ;  การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมอาสาสมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้าจะถูกสุ่มจากเพศ ระบบบจำแนกความสามารถด้านการเคลื่อนไหว (Gross Motor Function Classification System; GMFCS) และแบ่งเป็น 2  กลุ่ม คือกลุ่มนวดไทย และกลุ่มยืดค้างกล้ามเนื้อแบบทำให้ วัดผลของระดับการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อโดยใช้ Modified Ashworth Scale (MAS) และวัดความสามารถในการเดินโดยใช้ one minute walk test (1MWT) ก่อนและหลังจากให้การรักษาทันที
ผลการศึกษา;  อาสาสมัครเด็กสมองพิการ 13 คน ผ่านการสุ่มกลุ่มนวดไทย 7  คน และกลุ่มยืดค้างกล้ามเนื้อแบบทำให้ 6 คน มีคุณลักษณะพื้นฐานแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) หลังการรักษาพบว่ากลุ่มนวดไทยอาสาสมัคร 5 คน (ร้อยละ 71.43) มีระดับการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อquadriceps ข้างซ้ายลดลงมากกว่ากลุ่มยืดค้างกล้ามเนื้อแบบทำให้ซึ่งลดลง 1  คน ร้อยละ 16.67 (p = 0.0483) ส่วนกล้ามเนื้ออื่น ๆ      ไม่พบการลดลง (p > 0.05) โดยในกล้ามเนื้อ quadriceps ข้างขวา p = 0.135 กล้ามเนื้อ hamstrings ข้างซ้ายและข้างขวา p  =   0.42, 0.553 ตามลำดับ ส่วนผลของ 1MWT ระยะทางการเดินหลังรับการรักษา แตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและไม่แตกต่างระหว่างกลุ่ม (p = 0.659)
สรุป;  การนวดไทยให้ผลในการลดระดับการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ quadriceps ข้างซ้าย ในเด็กสมองพิการ การนวดแผนไทยและการยืดค้างกล้ามเนื้อแบบทำให้มีผลเพิ่มระยะทางการเดินหลังการรักษาอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2562, September-December ปีที่: 31 ฉบับที่ 3 หน้า 104-411
คำสำคัญ
Traditional Thai massage, การนวดไทย, Spasticity, Cerebral palsy, การยืดกล้ามเนื้อ, Walking ability, สมองพิการ, ความสามารถในการเดิน, Passive Static Stretching, Modified Ashworth Scale, อาการแข็งเกร็ง