การใช้ที่รัดหน้าท้องเพื่อลดการปวดแผลผ่าตัดหลังคลอดบุตร
ธัญญารัตน์ สิงห์แดง*, อุษณีย์ สังคมกำแหง, ธนนิตย์ สังคมกำแหง
Department of Obstetrics and Gynecology, Khon Kaen Hospital, Khon Kaen, 40000, Thailand, E-mail: saiithanyarats@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการใช้ที่รัดหน้าท้องต่อความปวดแผล ความสามารถในการเคลื่อนไหวและการใช้ยาลดปวดในสตรีตั้งครรภ์หลังผ่าตัดคลอด
วัสดุและวิธีการ:  สตรีตั้งครรภ์ที่เข้ารับการผ่าตัดคลอดบุตรแบบไม่ฉุกเฉินที่โรงพยาบาลขอนแก่น ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2561 จำนวน 50 ราย ได้รับการสุ่มเป็นกลุ่มที่ได้ใช้ที่รัดหน้าท้องหลังผ่าตัดคลอด และกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานตามปกติ โดยประเมินการปวดแผลผ่าตัดโดยใช้แถบเครื่องมือวัดความปวด (visual analog scale) ทดสอบความสามารถในการเคลื่อนไหวจากระยะทางการเดินโดยใช้แบบทดสอบการเดินใน 6 นาที (6 minutes walk test; 6MWT) เวลาครั้งแรกที่เริ่มขยับตัวหลังผ่าตัด(time to first ambulation) การใช้ยาลดปวดหลังการผ่าตัดคลอดและผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ที่รัดหน้าท้อง
ผลการศึกษา: การใช้ที่รัดหน้าท้องมีการปวดแผลหลังผ่าตัดที่  6, 24 และ 48 ชั่วโมง น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน VAS ที่ 6, 24 และ 48 ชั่วโมง (mean ± SD; 4.77 ± 1.97, 3.73 ± 1.48, 2.51 ± 1.63 และ 6.85 ± 2.26, 5.49 ± 2.34, 4.66 ± 2.21; p< 0.05 ) การใช้ปริมาณยาลดปวดกลุ่มน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในกลุ่มใช้ที่รัดหน้าท้อง 5.22 ± 1.20 มิลลิกรัมและ 7.63 ± 2.43 มิลลิกรัม (p < 0.01) แต่ความสามารถในการเคลื่อนไหวแบบ 6MWT และเวลาครั้งแรกที่เริ่มเคลื่อนไหวไม่แตกต่างกัน และไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของการใช้ที่รัดหน้าท้อง
สรุป: การใช้ที่รัดหน้าท้องสามารถลดการปวดแผลผ่าตัด และลดปริมาณการใช้ยาลดปวดหลังผ่าตัดคลอดบุตรได้
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2563, January ปีที่: 28 ฉบับที่ 1 หน้า 52-59
คำสำคัญ
pain, abdominal binder, postoperative cesarean delivery, physical function, analgesic drugs, ที่รัดหน้าท้อง, หลังผ่าตัดคลอดบุตร, ความสามารถในเคลื่อนไหว, การปวดแผล, ยาลดปวด