คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
ทัศนีย์ จินตกานนท์
กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลตราด
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รอดชีวิตอยู่จนถึง 3 เดือนหลังจากป่วย
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวางในผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่รอดจนถึง 3 เดือนหลังจากป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยในของโรงพยาบาลตราด 201 ราย ได้รับการขึ้นทะเบียนเข้าร่วมเป็นกลุ่มศึกษา เมื่อครบ 3 เดือน ผู้วิจัยจะประเมินคุณภาพชีวิต ความสามารถในการเคลื่อนไหว ภาวะสมอง          ภาวะซึมเศร้า และความรวดเร็วของการเดินระยะใกล้ ด้วยแบบประเมิน stroke Specific Scale - 16 (SIS -16), The Stroke Rehabilitation Assessment of Movement (STREAM), Thai Mental Status Examination (TMSE), Patient Health Questionnaire-9 (PHQ-9) ฉบับภาษาไทย และ 10 Meter Walking Test ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสัย และ Multivariable logistic regression test
ผลการศึกษา: อายุเฉลี่ยของผู้ป่วย คือ 64.8 + 12.0 ปี เป็นเพศชาย ร้อยละ 57.7 ส่วนใหญ่เป็นโรคหลอดเลือดสมองระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ร้อยละ 85.1 พยาธิสภาพเป็น cerebral infarction ร้อยละ 83.1 เป็นโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 73.6 เบาหวาน ร้อยละ 25.9 และ สูบบุหรี่ ร้อยละ 28.4 คะแนนคุณภาพชีวิต (SIS -16) เฉลี่ย 61.2 + 31.4 คุณภาพชีวิตในระดับดีสามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ (independent living :SIS-16 > 75) ร้อยละ 42.3 มีภาวะสมองเสื่อม (TMSE < 23) ร้อยละ 52.2 มีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 42.8 ไม่สามารถเดินได้ ร้อยละ 17.4 multivariable logistic regression test ชี้ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี (poor outcome: SIS-16 < 75) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ อายุ คะแนนNIHSS-T แรกรับ คะแนน STREAM โดยมีค่า  adjusted odds ratio 1.087, 1.373, 0.871 ตามลำดับ (p < 0.05)
สรุป: อายุ ความรุนแรงของโรค และความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รอดชีวิตอยู่จนถึง 3 เดือน หลังจากป่วย
 
ที่มา
วารสารแพทย์เขต 4-5 ปี 2562, April-June ปีที่: 38 ฉบับที่ 2 หน้า 114-124
คำสำคัญ
Health related quality of life, Stroke survivors, SIS-16, STREAM, คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพ, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่รอดชีวิต