ความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน พฤติกรรมการออกกำลังกายและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ
แจ่มจันทร์ ประทีปปมโนวงศ์คณะพยาบาลศาสตร์มิชชั่น มหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชีย-แปซิฟิก; e-mail: Jamchansahuenalue@gmail.com
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันพฤติกรรมการออกกำลังกายกับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2561 คัดเลือกโดยใช้การสุ่มแบบง่าย จำนวน 94 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ดัชนีบาร์เธลเอดีแอล แบบสอบถามคุณภาพชีวิต และแบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกายวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบนเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบลำดับที่ของสเปียร์แมน
ผลการวิจัยพบว่าคะแนนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (x̄ = 90.28, S.D. = 12.75) ปัจจัยที่สัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติคือที่ระดับ .05 ได้แก่ ระดับการศึกษา ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน อายุ และสถานภาพสมรส (r = .251, p < .05, r = .329, p < .01, r = -.299, p < .01, r = .225, p < .05 ตามลำดับ) ดังนั้นผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจควรได้รับการส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน อีกทั้งควรส่งเสริมให้คู่สมรสเขามีส่วนร่วมในการดูแลและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุ ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุโรคหลอดเลือดหัวใจ
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2562, October-December
ปีที่: 27 ฉบับที่ 4 หน้า 66-76
คำสำคัญ
Quality of life, Coronary artery disease, คุณภาพชีวิต, โรคหลอดเลือดหัวใจ, ผู้สูงอายุ, พฤติกรรมการออกกำลังกาย, Activities of daily living, การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน, Exercise behavior, คุณภาพชี่วิต, Older person