การศึกษาประสิทธิผลของการอบไอน้ำสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ
ปรีชา หนูทิม*, คัญฑมารา สิทธิไกรพงษ์, ปารัณกุล ตั้งสุขฤทัย
Thai Traditional and Integrated Medical Hospital, Department of Thai Traditional and Alternative Medicine, Ministry of Public Health
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการทดลองแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุม และปกปิดข้อมูลการรักษาของกลุ่มอาสาสมัคร (single blind randomized controlled trial) เพื่อประเมินประสิทธิผลของการอบไอน้ำสมุนไพรเปรียบเทียบกับการอบไอน้ำที่ไม่มีสมุนไพรในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยชายหญิงอายุ 25-60 ปี ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อซึ่งมารับการรักษาที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จำนวน 60 คน โดยสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละเท่ากัน กลุ่มที่ 1 รักษาด้วยการอบไอน้ำสมุนไพร และกลุ่มที่ 2 รักษาด้วยการอบไอน้ำไม่มีสมุนไพร การอบทั้ง 2 กลุ่ม จะใช้เวลาในการอบครั้งละ 30 นาทีต่อครั้ง อบสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ ประเมินผลระดับอาการปวดก่อนและหลังการรักษาด้วย Visual analog scale พบว่าทั้งกลุ่มที่ได้รับการอบไอน้ำสมุนไพรและการอบไอน้ำ ระดับอาการปวดกล้ามเนื้อลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม พบว่าระดับอาการปวด กล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการรักษาไม่แตกต่างกัน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการอบไอน้ำไม่มีสมุนไพรครั้งละ 30 นาที อบสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จำนวน 4 สัปดาห์ สามารถลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ไม่แตกต่างจากการอบไอน้ำสมุนไพรสำหรับระดับความพึงพอใจเมื่อเปรียบเทียบระหว่างก่อนการรักษากับหลังการรักษากลุ่มที่ได้รับการอบไอน้ำสมุนไพรจะมีระดับความพึงพอใจมากกว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2562, September-October ปีที่: 28 ฉบับที่ Suppl 2 หน้า S101-S112
คำสำคัญ
ประสิทธิผล, Efficacy, อาการปวดกล้ามเนื้อ, Efficacy, Muscle Pain, Herbal steam bath, steam bath, การอบไอน้ำสมุนไพร, การอบไอน้ำไม่มีสมุนไพร