ประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวดระหว่างการขูดมดลูกในสตรีที่แท้งไม่ครบในไตรมาสแรก : การศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบระหว่างการให้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำ การฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก และการพ่นยาชาชนิดละอองฝอยร่วมกับการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก
ภคพงศ์ เกิดทวี, ปิยวดี วุฒิกรสัมมากิจ*, ปริญญา ชำนาญDepartment of Obstetrics and Gynecology, Sanpasitthiprasong hospital, 122 Sappasit Road, Ubonratchathani 34000, Thailand; Tel: 6645-319-200, Fax: 6645-319-282, E-mail address: piyawadeemfm@yahoo.co.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการให้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำ การฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก และการพ่นยาชาชนิดละอองฝอยร่วมกับการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก ในการลดความเจ็บปวดระหว่างการขูดมดลูกในสตรีที่แท้งไม่ครบในไตรมาสแรก
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาแบบสุ่มในอาสาสมัคร 121 ราย ที่แท้งไม่ครบอายุครรภ์น้อยกว่า 14 สัปดาห์ ซึ่งเข้ารับการรักษาโดยการขูดมดลูก โดยสุ่มแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำ (เมเพอริดีน 50 มิลลิกรัม และ ไดอะซีแปม 10 มิลลิกรัม), กลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก (1% ลิโดเคน 5 มิลลิลิตร ที่ข้างปากมดลูกตำแหน่ง 4 และ 8 นาฬิกา) และกลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูกร่วมกับการพ่นยาชาชนิดละอองฝอย (10% ลิโดเคนสเปรย์ 20 มิลลิกรัม) ประเมินระดับความเจ็บปวดโดยใช้ numerical rating scale (0-10) ก่อนทำหัตถการ ระหว่างทำหัตถการ หลังทำหัตการทันที และหลังทำหัตถการ 30 นาที รวมถึงสังเกตผลข้างเคียง และสอบถามความพึงพอใจของอาสาสมัคร
ผลการวิจัย: ระดับความเจ็บปวดระหว่างการขูดมดลูกมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มการศึกษาทั้งสาม (ค่ามัธยฐานเท่ากับ 5 ในกลุ่มที่ได้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำ , 5 ในกลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก และ 4 ในกลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูกร่วมกับการใช้ยาชาชนิดละอองฝอย p = 0.001) การศึกษาเปรียบเทียบทีละคู่ พบว่าประสิทธิภาพในการลดปวดระหว่างขูดมดลูกในกลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูกร่วมกับการใช้ยาชาชนิดละอองฝอยดีกว่ากลุ่มได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณข้างปากมดลูก และกลุ่มที่ได้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.001 และ 0.002 ตามลำดับ) และพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของระดับความเจ็บปวดระหว่างสามกลุ่มหลัง หัตการทันที (p = 0.025) และ หลังหัตถการ 30 นาที (p = 0.003) ระดับความพึงพอใจต่อยาที่ได้รับในกลุ่มที่ได้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำน้อยกว่ากลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก และกลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูกร่วมกับการใช้ยาชาชนิดละอองฝอย อีกทั้งกลุ่มที่ได้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำ มีคลื่นไส้และมึนงงมากกว่าในขณะที่กลุ่มที่ได้ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูกพบว่ามีการชามากกว่าอีกสองกลุ่ม
สรุป: การฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูกร่วมกับใช้ยาชาลิโดเคนชนิดละอองฝอยมีประสิทธิภาพสูงในการลดความเจ็บปวดในหัตถการขูดมดลูกในสตรีแท้งไม่ครบโดยมีผลข้างเคียงคลื่นไส้และมึนงงน้อยกว่า
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2562, July
ปีที่: 27 ฉบับที่ 3 หน้า 139-148
คำสำคัญ
Paracervical block, การขูดมดลูก, Incomplete abortion, Uterine curettage, lidocaine spray, intravenous analgesia, แท้งไม่ครบ, การให้ยาลดปวดทางหลอดเลือดดำา, การฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากมดลูก, การพ่นยาชาชนิดละอองฝอย