การประเมินปริมาณการดึงน้ำขณะฟอกเลือดในผู้ป่วย ไตวายเฉียบพลัน เปรียบเทียบระหว่างการประเมินจาก ลักษณะทางคลินิกและวิธีไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปี
วุฒิกร ศิริพลับพลา*, ขจรศักดิ์ นพคุณ
หน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
บทนำ:   การฟอกเลือดเป็นการรักษาบำบัดทดแทนไตที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพื่อกำจัดน้ำที่เกินในร่างกายในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามความผิดพลาดในการประเมินปริมาณน้ำที่ต้องการดึงออกนี้ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลายประการ เช่น ภาวะความดันเลือดต่ำขณะฟอกเลือด ในเวชปฏิบัติวิธีไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปีถูกนำมาใช้ในการประเมินปริมาณน้ำในร่างกายของ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย แต่ข้อมูลในการนำมาใช้ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันนั้นยังมีน้อย
วัตถุประสงค์:      เพื่อศึกษาบทบาทของไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปีในการลดภาวะความดันเลือดต่ำขณะฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวาย เฉียบพลัน
วัสดุและวิธีการ:  การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบศูนย์เดียว, สุ่ม, ปกปิดสองด้าน, และทดสอบผลไม่ด้อยกว่า โดยสุ่มผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่มีข้อบ่งชี้ในการฟอกเลือดออกเป็นกลุ่มที่ได้รับการประเมินปริมาณน้ำในร่างกายที่ต้องการดึงออกโดยใช้ลักษณะทางคลนิกิ และกลุ่มที่ได้รับการประเมินปริมาณน้ำโดยใช้วิธีไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปี ผลลัพธ์ปฐมภูมิคืออุบัติการณ์ของการเกิดความดัน เลือดต่ำขณะฟอกเลือดในการฟอกเลือดครั้งแรก โดยกำหนดขอบเขตของผลไม่ด้อยกว่าเท่ากับร้อยละ 15 ผลลัพธ์ทุติยภูมิประกอบ ด้วยอัตราการฟื้นตัวของไต อัตราตายของผู้ป่วยในโรงพยาบาลและที่ 3 เดือน และอุบัติการณ์และจำนวนครั้งของการเกิดความดัน เลือดต่ำขณะฟอกเลือดในการฟอกเลือดทุกครั้ง
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยในการศึกษาทั้งหมด 109 ราย โดยเป็นกลุ่มที่ใช้ลักษณะทางคลินิกในการประเมินจำนวน 54 รายและ ใช้วิธีไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปี จำนวน 55 ราย ลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน อุบัติการณ์ของ ภาวะความดันเลือดต่ำขณะฟอกเลือดจากการประเมินด้วยลักษณะทางคลินิกไม่เข้าเกณฑ์ของการทดสอบว่าได้ผลไม่ด้อยกว่าการใช้วิธีไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปี (ร้อยละ 40.7 เปรียบเทียบ ร้อยละ38.2 คิดเป็นความแตกต่างเท่ากับ ร้อยละ 2.6 [ร้อยละ 95 ของช่วงความเชื่อมั่นเท่ากับร้อยละ -15.8 ถึง 20.9]) ปริมาณที่ดึงได้จริงในการฟอกเลือดครั้งแรกสูงกว่าในกลุ่มที่ใช้วิธีไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1,037±1,000 มิลลิลิตร เทียบกับ 1,614±1,225 มิลลิลิตร, p=0.008) อัตราตายในโรงพยาบาล อัตราตายที่ 3 เดือน อัตราการฟื้นตัวของไต และจำนวนครั้งของการเกิดความดันเลือดต่ำขณะฟอกเลือดไม่แตกต่างกันในทั้งสองกลุ่ม
สรุป: ในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันที่รับการรักษาด้วยการฟอกเลือด การประเมินปริมาณการดึงน้ำโดยใช้ลักษณะทางคลินิกไม่เข้าเกณฑ์ การทดสอบว่าได้ผลไม่ด้อยกว่าการประเมินปริมารการดึงน้ำโดยใช้เครื่องไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปีในการเกิดภาวะความดันเลือดต่ำขณะฟอกเลือด ซึ่งอธิบายจากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าการศึกษายังไม่ถึงขนาดตัวอย่างที่คำนวณไว้
 
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2558, July-September ปีที่: 21 ฉบับที่ 3 หน้า 43-50
คำสำคัญ
Hemodialysis, การฟอกเลือด, bioimpedance spectroscopy, ultrafiltration volume assessment, ไบโออิมปีแดนซ์สเปคโทรสโคปี, การประเมินปริมาณการดึงน้ำ