ประสิทธิภาพของ Senna Glycoside เทียบกับ Lactulose ในการรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังในผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
เนติรัตน์ กิตติญาณปัญญา, บัญชา สถิระพจน์*, อำนาจ ชัยประเสริฐ, วานิช ปิยนิรันดร์, บุษบง หนูหล้า, อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์
แผนกโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กทม. 10400 Email: satirapoj@yahoo.com
บทคัดย่อ
บทนำ : อาการท้องผูกเรื้อรังเป็นอาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีหลายปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการท้องผูก และผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกใช้ยาระบาย โดยขาดการตัวชี้วัดที่เหมาะสม
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของ senna glycoside เทียบกับ lactulose ในการรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง และแสดงถึงผลของยาต่อ colonic transit time ในผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาแบบทดลองสุ่ม cross-over study ในผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคของ ROME III โดยสุ่มผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม senna glycoside กับ กลุ่ม lactulose ผู้ป่วยจะได้รับการวัด colonic transit time ด้วย radio-opaque markers, Sitzmark® และประเมินการถ่ายอุจจาระ ต่อวันตามเกณฑ์ของ ROME III ระหว่างการศึกษา
ผลการศึกษา : ผู้ป่วยจำนวน 29 รายจาก 40 ราย เข้าร่วมครบในการศึกษา เป็นเพศชาย 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 อายุเฉลี่ย 58.8±12.3 ปี ค่ากลางของ colonic transit time เท่ากับ 38.4 (16.8-52.8) ชั่วโมง มีเพียง 3 รายที่มี colonic transit time  นานกว่า 72 ชั่วโมง ผลการักษาไม่มีความแตกต่างกันของประสิทธิภาพของยาระบายทั้งสองกลุ่มคือ กลุ่ม senna glycoside ร้อยละ 58.6 กับกลุ่ม lactulose ร้อยละ 75.9 ตอบสนองต่อการรักษา (p=0.403) ปริมาณยาระบายเฉลี่ยกลุ่ม senna glycoside 3.72±1.65 เม็ดกับกลุ่ม lactulose 23.3±11.8 มล. โดยพบร้อยละ 58 และ 43 ของผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อ senna glycoside  และ lactulose ตามลำดับ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ยาอีกกลุ่มมีการตอบสนอง ผลข้างเคียงคือ อาการปวดเกร็งท้องพบในกลุ่ม senna glycoside มากกว่า lactulose (ร้อยละ 65.5 กับร้อยละ 13.8, p<0.001) และอาการท้องอืดพบในกลุ่ม lactulose มากกว่า senna glycoside  (ร้อยละ 93.1 กับร้อยละ 6.9, p<0.001) ปริมาณยาเฉลี่ย senna glycoside 4.00±1.76 เม็ด และ lactulose 22.8±12.0 มล.  สัมพันธ์กับการเกิดผลข้างเคียงของการใช้ยา แต่ไม่มีรายงานการเกิดผลข้างเขียงแบบรุนแรงจากการใช้ยาทั้งสองกลุ่ม
สรุป : จากการศึกษานี้พบว่า การใช้ยาระบายมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการท้องผูกในผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม อย่างไร ก็ตามมีผลข้างเคียงทางระบบทางเดินอาหารแตกต่างกันในยาแต่ละชนิด
 
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2558, January-March ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 52-57
คำสำคัญ
Hemodialysis, Lactulose, ยาระบาย, การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, Constipation, Laxatives, Senna glycoside, ท้องผูกเรื้อรัง