การศึกษาแบบสุ่มเพื่อศึกษาผลของการรับประทานยาลดความดันเลือดกลุ่ม­RAAS­blocker­เวลาก่อนนอนในการลดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะในผู้ป่วยโรคไตที่เกิดจากเบาหวาน
พลเศรษฐ เกียรติยศนุสรณ์*, วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี, พงศธร คชเสนี, อนุตตร จิตตินันทน์
หน่วยโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
บทคัดย่อ
ความสำคัญของปัญหา : ภาวะความดันเลือดสูงในเวลากลางคืนพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการ เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้น และยังทำให้ภาวะไตเสื่อมเกิดได้รวดเร็วมากขึ้น ยาในกลุ่ม Renin-angiotensin-system (RAS) blockade เป็นยาลดความดันเลือดหลักและถูกเลือกใช้เป็นตัวเลือกแรก มีผลในการลดโปรตีนรั่วในปัสสาวะและชะลอ ความเสื่อมของไต กลุ่มผู้วิจัยจึงทำการศึกษานี้เพื่อทดสอบว่าการปรับเวลาของการรับประทานยากลุ่มดังกล่าวจากตอนเช้าเป็นก่อน นอนจะสามารถลดระดับโปรตีนในปัสสาวะหรือไม่
รูปแบบการวิจัย : โครงการวิจัยนี้ใช้รูปแบบการศึกษาแบบสุ่ม เพื่อแบ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานที่แผนกผู้ป่วยนอก กองอายุรกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ที่มีโรคเรื้อรัง อัตราส่วนของโปรตีนต่อครีแอทินินในปัสสาวะ(UPCR) มากกว่า 0.3 กรัม/กรัมครีแอทินิน และมีความดันเลือดต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีการปรับเวลารับประทานยา RAS blockades  จากเวลาเช้าเป็นก่อนนอน และกลุ่มที่รับประทานยาในเวลาเช้าเหมือนเดิม โดยจะดูผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงของระดับ UPCR ระหว่างค่าเริ่มต้นกับที่ 12 สัปดาห์
ผลการศึกษา : ระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม พ.ศ. 2556 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคไตเรื้อรังจำนวน 68 คน (หญิง 39 คน, ชาย 29 คน) ที่เข้าร่วมการศึกษาโดย 34 คนอยู่ในกลุ่มที่ปรับยาจากเวลาเช้าเป็นก่อนนอน และอีก 34 คน อยู่ในกลุ่มที่รับประทานยา ในเวลาเช้าเหมือนเดิม พบว่าทั้งสองกลุ่มภาวะพื้นฐานทางคลินิกไม่แตกต่างกัน ค่า estimated GFR(eGFR) ในขณะเริ่มต้นการศึกษา ของกลุ่มที่รับประทานยาในเวลาเช้าเหมือนเดิม และกลุ่มที่ปรับยาจากเวลาเช้าเป็นก่อนนอน คือ 43.39±24.87 ml/min/1.73m2 and 36.86±15.91 ml/min/1.73m2 ตามลำดับ (p = 0.88) ส่วนค่า baseline UPCR ของกลุ่มที่รับประทานยาในเวลาเช้าเหมือนเดิม มีค่าสูงกว่าแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (1.79+1.76 vs 1.19±1.07, p = 0.09) หลังจากติดตามผู้ป่วยเป็นเวลา 12 สัปดาห์ ค่า UPCR ของกลุ่มที่ปรับยาจากเวลาเช้าเป็นก่อนนอนมีค่าต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาในตอนเช้าเหมือนเดิมอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติ (0.03 vs 0.34, p = 0.048) ค่าการเปลี่ยนแปลง UPCR เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 2.4 ในกลุ่มที่ปรับยาจากเวลาเช้าเป็นก่อนนอน และ  ร้อยละ 22.4 ในกลุ่มที่รับประทานยาในเวลาเช้าเหมือนเดิม (p=0.09) ในขณะที่ ค่า eGFR และ ความดันเลือดไม่มีความแตกต่างกัน ที่ 12 สัปดาห์
สรุป : ในผู้ป่วยโรคเบาหวานท่ีมีโรคไตเรื้อรังที่มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ การปรับเวลาในการรับประทานยา RAS blockade เป็นเวลาก่อนนอนสามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของโปรตีนในปัสสาวะได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผล ที่ของในระยะยาวที่ชัดเจนมากขึ้น
 
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2557, October-December ปีที่: 20 ฉบับที่ 4 หน้า 38-43
คำสำคัญ
hypertension, ความดันเลือดสูง, Proteinuria, chronic kidney disease, โรคไตเรื้อรัง, circadian pattern of BP, renin angiotensin system blockade, แบบแผนความดันเลือดในรอบวัน, ยายับยั้งระบบเรนนินแองจิโออเทนซิน, โปรตีนในปัสสาวะ