ประสิทธิผลในการรักษาและผลข้างเคียงของยาไอออนไฮดรอกไซด์โพลีมอลโทสคอมเพล็กซ์ ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ได้รับการฟอกเลือด
คงศักดิ์ ส่วยหวาน*, อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์, บัญชา สถิระพจน์, ประเจษฎ์ เรืองกาญจนเศรษฐ์, อำนาจ ชัยประเสริฐ, เนาวนิตย์ นาทา, พรรณบุปผา ชูวิเชียร
แผนกโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
บทคัดย่อ
บทนำ: ภาวะขาดธาตุเหล็กพบได้บ่อยในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือด เหล็กในรูปรับประทานในปัจจุบัน ถึงแม้ราคาไม่แพง แต่มีข้อจำกัดสำคัญคือผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร ยาไอออนไฮดรอกไซด์โพลีมอลโทสคอมเพล็กซ์ มีคุณสมบัติไม่มีประจุและปล่อยธาตุเหล็กสม่ำเสมอทำให้ผลข้างเคียงดังกล่าวลดลง อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาผลของยาดังกล่าว ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือด
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยาไอออนไฮดรอกไซด์โพลีมอลโทสคอมเพล็กซ์เปรียบเทียบกับ ยาเฟอรัสฟูมาเรตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือด
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสลับกลุ่มแบบเปิด (open-label cross over) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยไต วายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือด ที่มีระดับเหล็กและฮีโมโกลบินในเลือดคงที่ด้วยยาเฟอรัสฟูมาเรตและยาฉีดกระตุ้น เม็ดเลือดแดงอย่างน้อย 3 เดือน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับยาไอออนไฮดรอกไซด์โพลีมอลโทสคอมเพล็กซ์มีปริมาณเหล็ก 200 มิลลิกรัมต่อวัน กลุ่มที่สองได้รับยาเฟอรัสฟูมาเรตมีปริมาณเหล็ก 195 มิลลิกรัมต่อวัน ตรวจเลือดวัดระดับเหล็ก, ฮีโมโกลบิน, ความร่วมมือในการรักษาและผลข้างเคียงของยาที่ 16 สัปดาห์
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 26 คน เพศชาย 18 คน อายุเฉลี่ย 61 ปี เปรียบเทียบประสิทธิผลในการรักษาระหว่างได้รับยา ทั้ง 2 ชนิดเป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์พบว่าการเปลี่ยนแปลงของระดับฮีโมโกลบิน (-0.1±1.0 และ 0.2±1.2 กรัมต่อเดซิลิตร, P=0.33),  ค่าความอิ่มตัวของเหล็ก (Transferrin saturation) (3.0±10.1 และ 1.8±10.4%, P=0.68) และระดับเฟอริติน (-12.2±124.1 และ 12.9±136.4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร, P=0.64) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลข้างเคียงที่มีต่อระบบทางเดินอาหาร พบในกลุ่มที่ได้รับยาเฟอรัสฟูมาเรตมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (34.6 และ 7.9%, P=0.04) ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงของยา ทั้ง 2 ชนิด
สรุป: ประสิทธิผลในการรักษาเท่าเทียมกันระหว่างยาไอออนไฮดรอกไซด์โพลีมอลโทสคอมเพล็กซ์และยาเฟอรัสฟูมาเรตในผู้ไตวาย เรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดที่ระยะเวลา 16 สัปดาห์ และมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับยา ไอออนไฮดรอกซีโพลีมอลโทสคอมเพล็กซ์
 
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2557, April-June ปีที่: 20 ฉบับที่ 2 หน้า 52-57
คำสำคัญ
ไตวายเรื้อรัง, iron hydroxide polymaltose complex, long-term hemodialysis, ไอออนไฮดรอกไซด์โพลีมอลโทสคอมเพล็กซ์, การฟอกเลือด