การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา sevelamer carbonate เพื่อควบคุมภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
วีระยุทธ หุมอาจ*, สกานต์ บุนนาค, อุดม ไกรฤทธิชัย, บุญธรรม จิระจันทร์, กำธร ลีลามะลิ, วรางคณา พิชัยวงศ์, วรรณิยา มีนุ่น, ประเสริฐ ธนกิจจารุ
งานโรคไต กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถึ
บทคัดย่อ
บทนำ : ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงเป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยไตเรื้อรังที่รักษาด้วยการฟอกเลือด และสัมพันธ์กับการเสียชีวิต ที่เพิ่มขึ้น ยาจับฟอสเฟตในอาหารที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ calcium carbonate ซึ่งมีรายงานการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง และเกิด vascular calcification ปัจจุบันมีการนำยา sevelamer carbonate ซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ในประเทศไทย วัตถุประสงค์ : เปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยา sevelamer carbonate กับ calcium carbonate ในการควบคุม ระดับฟอสเฟต แคลเซียม ค่าผลคูณของสารทั้งสอง ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ และสมดุลกรดด่างในร่างกาย
วิธีการวิจัย: เป็นการวิจัยในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มีระดับฟอสเฟต > 5.5 มก./ดล. โดยทำการสุ่มแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 ได้รับ sevelamer carbonate และกลุ่มที่ 2 ได้รับ calcium carbonate ทำการ ศึกษานาน 12 สัปดาห์ ผลการวิจัย : มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษา 29 ราย เป็นกลุ่ม sevelamer carbonate 17 ราย และกลุ่ม calcium carbonate 12 ราย  เมื่อเริ่มการศึกษาผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีข้อมูลระดับแคลเซียมและฟอสเฟต ผลคูณแคลเซียมกับฟอสเฟต ฮอร์โมนพาราไทรอยด์ และ ความเป็นกรดด่างไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังการรักษา 12 สัปดาห์ ผลตรวจเลือดยังคงไม่มีความแตกต่างกันอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติ ระหว่างกลุ่ม sevelamer carbonate และกลุ่ม calcium carbonate (ฟอสเฟตเท่ากับ 6.0±1.6 เทียบกับ 5.1±2.2 มก./ดล., p=0.84; แคลเซียมเท่ากับ 9.1±1.4 เทียบกับ 8.9±1.0 มก./ดล., p=0.64; ผลคูณของแคลเซียมกับฟอสเฟต  เท่ากับ 58.6±15.1 เทียบกับ 53.8±15.6 มก./ดล., p = 0.49; ฮอร์โมนพาราไทรอยด์เท่ากับ 870.3±784 เทียบกับ 643±480 พิโคกรัม/มล., p =0.47; ไบคาร์บอเนตเท่ากับ 22.6±1.9 เทียบกับ 21.2±8.2 มิลลิโมล/ลิตร, p=0.55). นอกจากนี้พบ ระดับแคลเซียม ในเลือดสูง 3 ราย ร้อยละ 17.6 ในกลุ่ม sevelamer carbonate และ 4 ราย ร้อยละ 33.3 ในกลุ่ม calcium carbonate, p=0.33               
สรุป : ยา sevelamer carbonate มีประสิทธิภาพลดระดับฟอสเฟตในเลือดได้ดี ไม่แตกต่างกับยา calcium carbonate แต่ยา sevelamer carbonate อาจเกิดกระตุ้นภาวะแคลเซียมในเลือดสูงได้น้อยกว่า
 
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2556, January-March ปีที่: 19 ฉบับที่ 1 หน้า 59-63
คำสำคัญ
Hypercalcemia, hyperphosphatemia, sevelamer carbonate, calcium carbonate