ผลของการให้ความรู้แบบเอื้ออำนาจในการตัดสินใจในการจำกัดเกลือในอาหารที่มีต่อการควบคุมความดันเลือดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
สิทธิพล ขันทอง*, บัญชา สถิระพจน์, ยุพา ชาญวิกรัย, อำนาจ ชัยประเสริฐ, ประเจษฎ์ เรืองกาญจนเศรษฐ์, เนาวนิตย์ นาทา, อินทรีย์ กาญจนกุล, อุปถัมภ์ ศุภสินธุ์
แผนกโรคไต กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
บทคัดย่อ
บทนำ:   การควบคุมความดันเลือดให้ได้ตามเป้าหมายสามารถชะลอการดำเนินโรคไตเรื้อรังได้ แต่เป็นการยากในการควบคุมความดันเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย วิธีการให้ความรู้ผู้ป่วยแบบเอื้ออำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาโดยยึดผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง (PEM) อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยลดความดันเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังได้
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการให้ความรู้ผู้ป่วยแบบเอื้ออำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาโดยยึดผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง (PEM) ต่อการเปลี่ยนแปลงของความดันเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 3-5
วิธีการวิจัย: เป็นการศึกษาแบบทดลองสุ่มตัวอย่างที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยในกลุ่มทดลองใช้วิธีการให้ความรู้ผู้ป่วยแบบการเอื้ออำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาโดยยึดผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง โดยมีการจัดทำ3 ครั้ง เพื่อควบคุมการจำกัดโซเดียมในอาหารและกลุ่มควบคุมใช้วิธีการให้ความรู้ผู้ป่วยแบบยึดตามโรคประจำตัวผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง (CM) โดยมีแพทย์และนักโภชนาการเป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำ การวัดความดันโลหิตกระทำโดยใช้วิธีการวัดแบบมาตรฐานร่วมกับการตรวจเลือดตามมาตรฐานทั่วไป และตรวจวัดปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมงก่อนและหลังการศึกษา
ผลการวิจัย: ผู้ป่วยอยู่ในกลุ่ม PEM จำนวน   19 รายและในกลุ่ม CM จำนวน 20 ราย โดยทั้งสองกลุ่มมีข้อมูลพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกัน โดยมีอายุเฉลี่ย (PEM 67.1 เทียบกับ CM 63.9 ปี) ความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัว (PEM 140.75 เทียบกับ CM 143.13 มม.ปรอท) ความดันเลือดขณะหัวใจคลายตัว (PEM 75.82 เทียบกับ CM 75.67 มม.ปรอท) โรคเบาหวาน (PEM ร้อยละ 42.1 เทียบกับ CM ร้อยละ 45) และปริมาณโซเดียมในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง(PEM 70.65 เทียบกับ CM 67.32 mEq/วัน)กลุ่ม PEM มีความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวและค่าความดันเลือดเฉลี่ย (mean arterial blood pressure, MAP) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 11.8 มม.ปรอท (p=0.014) และ 6.7 มม.ปรอท(p=0.024) ตามลำดับ ขณะที่กลุ่ม CM มีความดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวและค่าความดันเลือดเฉลี่ยลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ 6.03 มม.ปรอท (p=0.63) และ1.19 มม.ปรอท (p=0.176) ตามลำดับ ขณะที่ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของระดับความดันเลือด ปริมาณโซเดียมที่รับประทานและปริมาณโซเดียมในปัสสาวะของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานโซเดียมมากกว่า 2 กรัมต่อวันกลุ่ม PEM สามารถลดความ ดันเลือดขณะหัวใจบีบตัวและ MAP ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 37 มม.ปรอท (p=0.02) และ 23 มม.ปรอท (p=0.02) ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่ม CM
สรุป: การให้ความรู้ผู้ป่วยแบบให้ความรู้แบบเอื้ออำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา (PEM) มีประสิทธิภาพในการควบคุมความดันเลือดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ดังนั้นอาจพิจารณาเลือกการให้ความรู้แบบนี้ในคลินิกผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้
 
ที่มา
วารสารสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ปี 2555, January-March ปีที่: 18 ฉบับที่ 1 หน้า 55-60