ประสิทธิผลของการให้นมผสมที่ไม่มีแลคโทสเปรียบเทียบกับนมผสมปกติในเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
นิพัทธ์ สีมาขจร, วันดี วราวิทย์, อรพินท์ ทองตัน, โยธี ทองเป็นใหญ่
Department of Pediatrics, Maharat Nakhon Ratchasima Hospital, School of Medicine, Nakhon Ratchasima 30000, Thailand.
บทคัดย่อ
การให้อาหารแก่เด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม ตามหลังการให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทางปากเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำในเด็กที่เกิดจากโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ มีการทำ meta-analysis แล้วสรุปว่ามีผลไม่แตกต่างกัน แต่เนื่องจากเด็กไทยอาจมีผลให้หายช้าเพราะคนเอเชียมีนํ้าย่อยแลคแทสตํ่ากว่าคนตะวันตกอยู่แล้วโดยพันธุกรรม ยิ่งติดเชื้อโรตาไวรัสย่อมทําให้ขาดนํ้าย่อยแลคแทสมากขึ้น ภาวะการดูดซึมแลคโทสบกพร่องอาจเป็นปัญหาที่สำคัญที่ทำให้หายช้าเมื่อเริ่มให้นมเป็นอาหารภายหลังแก้ไขภาวะขาดนํ้าแล้ว วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการให้นมผสมที่ไม่มีแลคโทสกับนมผสมปกติในเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันภายหลังแก้ไขภาวะขาดนํ้าแล้ว โดยเปรียบเทียบระยะเวลาของการหาย สารเคมีในเลือด อาเจียน นํ้าหนักตัวที่เพิ่ม ความถี่ของการถ่ายและน้ำหนักอุจจาระ วิธีการศึกษา: Randomized, double-blind clinical trial ผู้ป่วย: ทำการศึกษาในเด็กเพศชายจำนวน 80 ราย ที่เลี้ยงด้วยนมผสม อายุระหว่าง 3 ถึง 24 เดือน และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และมีภาวะขาดน้ำน้อยถึงปานกลาง เด็กทุกรายได้รับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทางปากเพื่อรักษาภาวะขาดน้ำใน 4 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นเด็กจะได้รับนมผสมโดยการสุ่มตัวอย่าง โดยกลุ่มแรกได้รับนมผสมที่ไม่มีแลคโทส (Dumex ® Lactose-Free Formula) เป็นกลุ่มรักษาจำนวน 40 ราย และกลุ่มที่สองได้รับนมผสมปกติ (Dumex ® Infant Formula) เป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 40 ราย สลับกับการให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทางปาก และให้ข้าวบดในปริมาณเท่าที่จะสามารถรับได้ผลการศึกษา: เด็ก 3 ราย (กลุ่มรักษา 2 ราย และกลุ่มควบคุ ม 1 ราย) ถูกคัดออกจากการศึกษา เด็กที่ได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำมีจำนวน 6 ราย จากจำนวนทั้งหมด 80 ราย (ร้อยละ 7.5) โดยเป็นเด็กในกลุ่มรักษา 2 ราย (ร้อยละ 5.0) และกลุ่มควบคุม 4 ราย (ร้อยละ 10.0) และเด็ก 3 รายในกลุ่มควบคุมไม่หายจากโรคอุจจาระร่วงภายในระยะเวลา 7 วัน ผลการตรวจอุจจาระพบโรตาไวรัส ประมาณร้อยละ 50 ในแต่ ละกลุ่ม จากการวิเคราะห์ระยะปลอดเหตุการณ์ (survival analysis) พบค่า median ของระยะเวลาหายจากอุจจาระร่วงในกลุ่มรักษาลดลง 20.5 ชั่วโมง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (P = 0.002) โดยมีค่าเท่ากับ 77.0 และ 97.5 ชั่วโมง ในกลุ่มรักษาและกลุ่มควบคุมตามลำดับ จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระลดลง และร้อยละของน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มรักษาเมื่อครบ 24 ชั่วโมง ภาวะเลือดเป็นกรดปานกลางหายไปเกือบเป็นปกติเมื่อครบ 24 ชั่วโมง ในขณะที่ยังคงพบภาวะเลือดเป็นกรดในกลุ่มควบคุม ในกลุ่มอุจจาระร่วงที่เกิดจากโรตาไวรัส ภาวะเลือดเป็นกรดปานกลางลดลงเป็นระดับเล็กน้อยในกลุ่มรักษาเปรียบเทียบกับระดับเลือดเป็นกรดที่ไม่เปลี่ยนแปลงร่วมกับมีคลอไรด์ในเลือดสูงขึ้นในกลุ่มควบคุม เมื่อครบ 24 ชั่วโมง แสดงถึงการเกิดภาวะการดูดซึมแลคโทสบกพร่อง และ osmotic diarrhea ระยะเวลาหายจากอุจจาระร่วงจากโรตาไวรัสในกลุ่มรักษาลดลง 23.6 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (P = 0.0034) สรุป: การใช้นมผสมที่ไม่มีแลคโทสในการให้อาหารเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีประสิทธิผลในการรักษาโรคโดยทำให้ระยะเวลาหายจากโรคสั้นเข้า น้ำหนักตัวขึ้นดี และจำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับนมผสมปกติ ภาวะเลือดเป็นกรดหายไปเมื่อครบ 24 ชั่วโมง และเด็กสามารถรับนมผสมที่ไม่มีแลคโทสนี้ได้ดี ข้อมูลจากการวิเคราะห์ในกลุ่มอุจจาระร่วงจากโรตาไวรัสก็แสดงถึงผลการรักษาที่ดีกว่าในทุกด้านของนมผสมที่ไม่มีแลคโทส
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2547, June ปีที่: 87 ฉบับที่ 6 หน้า 641-649
คำสำคัญ
Acute diarrhea, Lactose-free formula, Oral rehydration therapy