ผลของการออกกำลังกายความหนักต่ำต่อสมรรถภาพทางกายและคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในผู้สูงอายุเพศหญิงก่อนภาวะเปราะบาง
จตุพร เพิ่มทรัพย์ทวี*, นฤมล ลีลายุวัฒน์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
บทคัดย่อ
 ที่มาและความสำคัญ: ภาวะเปราะบางเป็นอาการเสื่อมตามวัยของผู้สูงอายุส่งผลให้ความสามารถในการทำหน้าที่เสื่อมถอยและเกิดภาวะพึ่งพา แม้ว่าการออกกำลังกายเป็นประจำจะมีประโยชน์ในการป้องกันหรือชะลอกระบวนเข้าสู่ภาวะเปราะบาง แต่ยังมีผลการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับความหนักของการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายความหนักต่ำสามารถช่วยให้สมรรถภาพทางกายในผู้สูงอายุดีขึ้นได้หรือไม่
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการออกกำลังกายความหนักต่ำต่อสมรรถภาพการใช้ออกซิเจน ความสามารถในการเคลื่อนไหวเชิงหน้าที่ และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในผู้สูงอายุเพศหญิงก่อนภาวะเปราะบาง
วัสดุและวิธีการ: กลุ่มอาสาสมัครเป็นผู้สูงอายุเพศหญิงก่อนภาวะเปราะบาง อายุเฉลี่ย 77.2±7.1 ปี จำนวน 24 ราย ถูกสุ่มให้เข้าสู่ 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเวลาออกกำลังกาย (อาสาสมัครได้รับการฝึกออกกำลังกายแบบแกว่งแขนความหนักต่ำภายใต้ การควบคุมเป็นเวลา 30 นาที/วัน 5 วัน/สัปดาห์) หรือ ช่วงเวลาควบคุม (อาสาสมัครทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ) เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ติดตามด้วยช่วงเวลาหยุดพักเป็นเวลา 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาสาสมัครถูกไขว้เข้าสู่อีกช่วงเป็นเวลา 12 สัปดาห์ วัดอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุด เวลาในการทดสอบ timed up and go (TUGT) ความเร็วในการเดินระยะทาง 4 เมตร (4-MWT) และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนของอาสาสมัครทุกรายก่อนและหลังแต่ละช่วงเวลาการศึกษา และประเมินคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ผลการศึกษา: พบว่าภายหลังการออกกำลังกายแบบแกว่งแขนความหนักต่ำเป็นเวลา 12 สัปดาห์ อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุด (p<0.01) เวลาในการทดสอบ TUGT (p<0.01) และ 4-MWT (p<0.01) ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่า คุณภาพชีวิตทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต (p<0.01) ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในช่วงออกกำลังกายแบบแกว่งแขนเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาควบคุม
สรุปผลการศึกษา: การศึกษานี้เสนอแนะถึงประโยชน์ของการฝึกออกกำลังกายแบบแกว่งแขนความหนักต่ำต่อการเพิ่มสมรรถภาพการใช้ออกซิเจน ความสามารถในการเคลื่อนไหวเชิงหน้าที่ และคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพในผู้สูงอายุเพศหญิงก่อนภาวะเปราะบาง การออกกำลังกายความหนักต่ำอาจจะส่งเสริมระดับสุขภาพที่เหมาะสมกับวัยในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยง ต่อการบาดเจ็บต่ำและทำให้การออกกำลังกายมีความยั่งยืนต่อเนื่อง
 
ที่มา
Journal of Associated Medical Sciences ปี 2560, January ปีที่: 50 ฉบับที่ 1 หน้า 87-99
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, Arm swing exercise, peak oxygen consumption, functional mobility, การออกกำลังกายแบบแกว่งแขน, อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุด, ความสามารถในการเคลื่อนไหวเชิงหน้าที่