การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แบบการบริหารจัดการโรคในบริบทโรงพยาบาลชุมชน โดย CORE Diabetes Model
Andrew J Paimar, Stephane Roze, Willium J Valentine, จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์*, ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์, ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช, ภัทรนุช รุจิรวรรธน์, ศุภชัย จิรคุปต์, สุมนต์ สกลไชย
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทรศัพท์ 043-362-090 โทรสาร 043-202-379, email: limw0002@kku.ac.th
บทคัดย่อ
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ ปัจจุบันมีหลักฐานการศึกษาสนับสนุนถึงประสิทธิผลการดูแลผู้ป่วยเบาหวานโดยแนวทางการรักษาของ American Diabetes Association (ADA) 2006 ได้แนะนำการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและเป้าหมายในการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวาน อย่างไรก็ตามการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในประเทศไทยยังไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษา และมีผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 50 ที่มีผลลัพธ์การรักษาต่ำกว่าเป้าหมายการรักษา โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชนที่มีทรัพยากรจำกัดกว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อทำนายผลลัพธ์ทางคลินิกและวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบ disease management เปรียบเทียบกับ usual care ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 40 ปี ในบริบทโรงพยาบาลชุมชน โดยใช้ CORE Diabetes Model ในการคำนวณอายุคาดของผู้ป่วย (life expectancy) จำนวนปีชีพที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิต (quality-adjusted-life-expectancy, QALY) อุบัติการณ์ของการเกิดภาวะแทรกซ้อน ต้นทุนตลอดชีพ (lifetime cost) และอัตราส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผล (incremental cost-effectiveness ratio, ICER) ของการดูแลแบบ disease management เปรียบเทียบกับ usual care ภายใต้มุมมองของผู้ให้บริการทางสุขภาพ กำหนดกรอบระยะเวลาในการศึกษา คือ 35 ปี ผลการศึกษาพบว่าอายุคาดของผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบ disease management และ usual care เท่ากับ 9.52 และ 8.39 ปี หรือมีจำนวนปีชีพที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิตเท่ากับ 6.59 และ 5.73 QALYs ตามลำดับ ค่า ICER ของการดูแลแบบ disease management เปรียบเทียบกับ usual care เท่ากับ 12,607 บาท/QALY โดยการดูแลแบบ disease management สามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะแทรกซ้อน และเพิ่มระยะเวลาการมีชีวิตที่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเปรียบเทียบกับ usual care การวิเคราะห์ความไวพบว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์จะเพิ่มขึ้นเมื่อประสิทธิผลของการลด hemoglobin A1c ความดันโลหิต และมีการเข้าถึงการรักษาทดแทนไตได้มากขึ้น สรุปได้ว่าการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แบบ disease management ในบริบทของโรงพยาบาลชุมชนมีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2550, January-June ปีที่: 3 ฉบับที่ 1 หน้า 78-93
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Diabetes, การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล, Diease management, การบริหารจัดการโรค, เบาหวาน