การศึกษาเปรียบเทียบผลของน้ำยาบ้วนปากสามสูตรของโรงพยาบาลจังหวัดน่านต่อการเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบในผ้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด
ปนัฐดา กันทาเศษ*, ยุทธพงศ์ สุวรรณพงศ์, เยาวเรศรัศ เขื่อนจันธนลาภ, วิภารัตน์ ผิวอ่อน, สุรชัย โกติรัมย์
หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลน่าน จังหวัดน่าน
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำ ยาบ้วนปากสามสูตร ได้แก่ สูตรน้ำเกลือ สูตรน้ำผงฟู และสูตรผสมระหว่างน้ำเกลือกับผงฟู ต่อการเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ณ หน่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลน่าน เพื่อใช้เป็นแนวการป้องกันและบรรเทาการเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ ทำการสุ่มให้ผู้ป่วยได้รับน้ำยาบ้วนปากสูตรที่แตกต่างกันในแต่ละครั้งที่มารับยาเคมีบำบัด โดยที่ผู้ป่วยและผู้ประเมินไม่ทราบชนิดน้ำยาบ้วนปากที่ได้รับ (double blind) ใช้น้ำยาบ้วนปากติดต่อกัน นาน 14 วัน และหยุดใช้น้ำยาบ้วนปาก 7 วัน ประเมินการเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบตาม WHO mucositis grading system และให้ผู้ป่วยกลุ่มเดิมเปลี่ยนน้ำยาบ้วนปากเป็นสูตรอื่น จนครบ 3 สูตร ทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 ถึง 30 พฤศจิกายน 2559 มีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดจำนวน 88 ราย ได้รับยาเคมีบำบัดร่วมกับน้ำ ยาบ้วนปากทั้งหมด จำนวน 264 ครั้ง แบ่งเป็นน้ำยาบ้วนปากแต่ละสูตร ๆ ละ 88 ครั้ง ผลการศึกษาพบว่าเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ
ทั้งหมด 85 ครั้ง จำแนกเป็นสูตรน้ำเกลือ 37 ครั้ง (ร้อยละ 42.05) สูตรน้ำ ผงฟู 30 ครั้ง (ร้อยละ 34.09) และสูตรผสมระหว่างน้ำเกลือกับผงฟู 18 ครั้ง (ร้อยละ 20.45) เมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงของการเกิดภาวะเยื่อบุช่องปากทั้งสามกลุ่ม โดยใช้กลุ่มสูตรน้ำเกลือเป็นตัวเปรียบเทียบ พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากสูตรน้ำผงฟูมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดเยื่อบุช่องปากอักเสบไม่ต่างกับกลุ่มใช้น้ำเกลือ (odds ratio=0.60, P=0.145) แต่ในผู้ป่วยที่ด้รับสูตรน้ำเกลือผสมน้ำผงฟูมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดเยื่อบุช่องปากอักเสบได้อย่างชัดเจน (odds ratio=0.21, P<0.001) ทั้งนี้การใช้น้ำยาบ้วนปากทั้งสามสูตรหลังจากที่ผู้ป่วยเกิดภาวะเยื่อบุช่วงปากอักเสบแล้ว ไม่พบความแตกต่างของประสิทธิภาพในการลดความรุนแรง ระยะเวลาการเริ่มเกิดแผลและระยะเวลาการหายของแผลในช่องปาก
 
ที่มา
วารสารโรคมะเร็ง ปี 2561, July-September ปีที่: 38 ฉบับที่ 3 หน้า 95-104
คำสำคัญ
chemotherapy, ผู้ป่วยมะเร็ง, เคมีบำบัด, Cancer patient, Oral mucositis, ภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ, mouthwash solution, ภาวะเยือบุช่องปากอักเสบ, น้ำ ยาบ้วนปาก