ประสิทธิภาพของยาอะเซตามิโนเฟน/ทรามาดอลเหน็บทางทวารหนักเพื่อลดอาการปวดแผลฝีเย็บในมารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด โดยวิธีการแบบสุ่มและมีการควบคุม
ณัฐวดี ภัทรสิริวงศ์, เด่นศักดิ์ พงศ์โรจน์เผ่า*, อธิตา จันทเสนานนท์, สุภาเพ็ญ เลิศวุฒิวิวัฒน์, กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ, คมสันติ์ สุวรรณฤกษ์
Department of Obstetrics and Gynaecology, Faculty of Medicine, Thammasat, University, PathumThani 12120, Thailand., Phone: +66-2926-9343, Fax +66-2926-9485, Email: pongrojpaw@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการใช้ยา acetaminophen/tramadol เหน็บทางทวารหนักในมารดาหลังคลอดปกติทางช่องคลอด เพื่อลดอาการปวดแผลฝีเย็บ เปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก
วัสดุและวิธีการ: ทำการศึกษาในสตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดที่คลอดปกติทางช่องคลอดจำนวน 200 ราย ซึ่งถูกคัดออกเพิ่มเติม 12 ราย ตามข้อบ่งห้ามของการศึกษา นำผู้เข้าร่วมการวิจัยแบ่งโดยสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ทำการศึกษาได้รับยาแก้ปวด อะเซตามิโนเฟน/ทรามาดอล ทางทวารหนักหลังคลอด ประเมินความปวดโดยวัดเป็นคะแนน visual analogue scale เทียบกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก ที่เวลาหลังคลอดทันที 6, 12 และ 24 ชั่วโมงหลังคลอด รวมทั้งเก็บข้อมูลถึงผลข้างเคียงของยาที่ใช้ และจำนวนยาแก้ปวด (อะเซตามิโนเฟน) ที่ขอเพิ่มในแต่ละกลุ่ม
ผลการศึกษา: จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมดจำนวน 188 ราย แบ่งเป็นกลุ่มศึกษา 98 ราย และกลุ่มควบคุม 90 ราย อายุเฉลี่ยของผู้เข้าวิจัยคือ 27 ปี เป็นหญิงตั้งครรภ์แรกคิดเป็นร้อยละ 40 ทุกรายที่เข้าร่วมการศึกษาเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์ครบกำหนดทั้งหมด และมีข้อมูลประชากรทั่วไปไม่แตกต่างกันในทั้ง 2 กลุ่มทดลอง คะแนนความปวดที่ประเมินที่ช่วงเวลาหลังคลอดทันที 6, 12 และ 24 ชั่วโมง หลังคลอดของทั้งกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ในการศึกษานี้ไม่พบภาวะข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
สรุป: อะเซตามิโนเฟน/ทรามาดอลเหน็บทางทวารหนัก ไม่สามารถระงับความปวดฝีเย็บหลังคลอดปกติทางช่องคลอด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
 
 
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2561, July ปีที่: 26 ฉบับที่ 3 หน้า 182-189
คำสำคัญ
pain, ความปวด, Rectal suppository, vaginal delivery, คลอดปกติทางช่องคลอด, acetaminophen/tramadol, อะเซตามิโนเฟน/ทรามาดอล, ยาเหน็บทางทวารหนัก