คุณภาพชีวิตและสภาวะการทำงานของไตของผู้บริจาคไตในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดนัย แก้วจงประสิทธิ์, จักรกฤษณ์ จันทร์อู่, อัคร อมันตกุล, ศิวัฒน์ ภูริยะพันธ์*
หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิต, สภาวะการทำงานของไตในผู้บริจาคไตในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัดบริจาคไต
ผู้ป่วยและวิธีการศึกษา: การศึกษาแบบ Prospective cohort study มีผู้เข้าร่วมงานวิจัย 76 ราย ซึ่งเป็นผู้บริจาคไตที่เข้ารับการวางแผนผ่าตัด และ/หรือ ติดตามอาการภายหลังการบริจาคไต ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2015 ถึง มิถุนายน 2017 วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาคือ การติดตามคุณภาพชีวิตภายหลังการผ่าตัดบริจาคไตในทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยประเมินด้วยแบบสอบถาม SF-36 questionnaire วัตถุประสงค์รองของการศึกษาคือ สภาวะการทำงานของไตภายหลังการผ่าตัดบริจาค หรือภาวะอื่นๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ภายหลังการบริจาคไต เช่น ความดันโลหิตสูง, โปรตีนรั่วในปัสสาวะ, ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และการคิดไตร่ตรองอีกครั้งถึงการผ่าตัดบริจาคไต
ผลการศึกษา: คุณภาพชีวิตของผู้บริจาคไตในด้านร่างกาย (physical components) ลดลงในช่วงแรกหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นจะดีขึ้นตามลำดับ คุณภาพชีวิตโดยรวมของกลุ่มผู้บริจาคไตมีค่าสูงกว่าประชากรทั่วไปในทุกด้าน ผู้บริจาคไต 63ราย มีค่า GFR >60 mL/min/1.73 m2 หลังการผ่าตัดบริจาคไต ผู้บริจาคไต 8ราย มีค่า GFR อยู่ในช่วง 45-59 mL/min/1.73m2 หลังการผ่าตัดบริจาคไต ผู้บริจาคไต 5 ราย ไม่ได้มาติดตามอาการหลังผ่าตัดเนื่องจากปัญหาด้านการเดินทาง ไม่พบภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการผ่าตัดบริจาคไต ผู้บริจาคไต 2 ราย ได้รับการวินิจฉัยว่า ความดันโลหิตสูงภายหลังการผ่าตัดบริจาคไต
ผู้บริจาค 2 ราย ตั้งครรภ์หลังการผ่าตัด และสามารถคลอดบุตรได้ตามปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ผู้บริจาคไต 1 ราย รู้สึกเสียใจที่ผ่าตัดบริจาคไตเนื่องจากไตบริจาคนั้นสูญเสียการทำงานจากภาวะ renal vein thrombosis
สรุป: การผ่าตัดบริจาคไต เป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย คุณภาพชีวิตในมิติของร่างกาย(physical components) อาจลดลงในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด แต่ไม่ส่งผลในด้านจิตใจ (mental components) ของผู้บริจาคแต่อย่างใด และไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว นอกจากนี้คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้บริจาคไตมีค่าสูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปในทุกด้าน ค่าสภาวะการทำงานของไตที่เหลืออยู่ อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
 
ที่มา
วารสารยูโร ปี 2561, January-June ปีที่: 39 ฉบับที่ 1 หน้า 26-35
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Kidney transplantation, คุณภาพชี่วิต, การผ่าตัดเปลี่ยนไต, kidney donors, ผู้บริจาคไต