ผลความแตกต่างของแรงกดจุดสะท้อนบริเวณสมองที่ฝ่าเท้าต่อการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าสมองในผู้ใหญ่สุขภาพดี
ฉัตรฤกษ์ วงษ์เจริญ*, วิลาวัลย์ อินทรีย์, สุภาวดี ทาจ๋อย, ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์, กิติยา โกวิทยานนท์, สมภิยา สมถวิล, อรอุมา บุณยารมย์, กนกวรรณ ศรีสุภรกรกุล
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทคัดย่อ
เหตุผลของการทำวิจัย: เท้าเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่รองรับน้ำหนัก และรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใต้ฝ่าเท้าแล้วส่งข้อมูลไปสมอง เพื่อประมวลผลให้เกิดการตอบสนองที่เหมาะสม การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นสาเหตุให้การรับรู้ความรู้สึกของฝ่าเท้าลดลงทำให้เสี่ยงต่อการล้มได้ง่าย ดังนั้นเท้าจึงเป็นอวัยวะที่ควรได้รับการดูแล เช่น การนวดด้วยวิธีการกดจุดสะท้อน เนื่องจากเท้ามีพื้นที่การตอบสนองที่เชื่อมโยงกับส่วนต่าง ๆ เมื่อกระตุ้นที่ตำแหน่งของฝ่าเท้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะ การประเมินการตอบสนองมีหลายวิธี แต่วิธีการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองมีข้อดีหลายประการ และยังไม่พบการศึกษา
การกดจุดสะท้อนบริเวณสมองที่ฝ่าเท้าด้วยการวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลความแตกต่างของแรงกดจุดสะท้อนบริเวณสมองที่ฝ่าเท้าต่อการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี
วิธีการทำวิจัย: เพศหญิงอายุระหว่าง 20 - 30 ปี จำนวน 40 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยวิธีการสุ่ม คือ กลุ่มทดลอง (นวดกดจุดสะท้อนบริเวณสมองที่ฝ่าเท้า, n = 20) และกลุ่มควบคุม (แตะจุดสะท้อนบริเวณสมอง
ที่ฝ่าเท้า, n = 20) โดยทำการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองในบริเวณ frontal lobe, parietal lobe, temporal lobe, central lobe และ occipital lobe ทั้งก่อนกดจุด ขณะกดกลางฝ่าเท้า กดนิ้วโป้งเท้า และหลังกดจุด
ผลการศึกษา: พบว่าความถี่ของคลื่นไฟฟ้าสมองในบริเวณ frontal lobe, parietal lobe, temporal lobe, central lobe และ occipital lobe ในช่วงก่อนกดจุด ขณะกดกลางฝ่าเท้า และกดนิ้วโป้งเท้ามีความแตกต่างกัน
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P <0.003) เมื่อเปรียบเทียบกับภายหลังกดจุดทันที ทั้งในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ทั้งเท้าข้างซ้ายและเท้าข้างขวา กล่าวคือในขณะกดจุดพบคลื่นอัลฟ่าความถี่สูง (11.0 -12.9 Hz) สำหรับภายหลังกดจุดพบคลื่นเบต้า (13.0 - 30.0 Hz) นอกจากนี้ยังไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P >0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการกดจุดสะท้อนและแตะเบา
สรุป: การกดจุดสะท้อนไม่ว่าจะเป็นการกดจุดสะท้อนหรือแตะเบาจะกระตุ้นให้สมองเกิดคลื่นอัลฟาความถี่สูง แต่หลังจากกดทันทีพบคลื่นเบต้า บ่งชี้ว่าสมองทำงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าไม่ว่าจะเป็น
การกดจุดสะท้อนหรือแตะเบาที่เท้าข้างใดก็ให้การกระตุ้นสมองคล้ายคลึงกัน
 
ที่มา
จุฬาลงกรณ์เวชสาร ปี 2561, September-October ปีที่: 62 ฉบับที่ 5 หน้า 831-842
คำสำคัญ
Foot reflexology, Brain representation area, electroencephalogram, จุดสะท้อนบริเวณสมองที่ฝ่าเท้า, คลื่นไฟฟ้าสมอง, การกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า