ผลของดนตรีพื้นบ้านต่อการควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
สุภาพ อิ่มอ้วน*, แพรว โคตรรุฉิน, พนอ เตชะอธิก, ฐปนวงศ์ มิตรสูงเนิน
Accident and Emergency Department, Srinagarind Hospital, Faculty of Medicine, Khon Kaen University
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้เพื่อศึกษาผลของดนตรีพื้นบ้านต่อการควบคุมความดันโลหิต และแนวโน้มความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลง เป็นการวิจัยแบบ Randomize Controlled Trial กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้ป่วยที่เคยมีภาวะความดันโลหิตสูงจำนวน 120 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 60 คน สุ่มตัวอย่างแบบกลุ่มย่อย (block randomization) สิ่งทดลอง (intervention) คือ เพลงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ความยาว 31.54 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย สมุดบันทึกความดันโลหิตและเครื่องวัดความดันโลหิตแบบ HBPM (Home Blood Pressure Monitoring) กลุ่มทดลองฟังเพลงที่บ้านวันละ 1 ครั้ง จำนวน 30 วัน วัดความดันโลหิตทุกวันตอนเช้าและตอนเย็น กลุ่มควบคุมให้ปฏิบัติตัวและบันทึกความดันโลหิตตามเดิมที่เคยปฏิบัติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ independent t-test และ paired t-test ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ฟังดนตรีพื้นบ้านอีสาน ความดันโลหิตซิสโทลิกลดลงต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ฟังดนตรีเฉลี่ย 9.5 มิลลิเมตรปรอท (p<0.01, 95% CI-11.43, -7.64) ไดแอสโทลิกกลุ่มฟังดนตรีลดลงต่ำกว่ากลุ่มควบคุมเฉลี่ย 3.2 มิลลิเมตรปรอท (p<0.01, 95%CI-5.20,-1.09) แนวโน้มค่าเฉลี่ยความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงหลังการฟังดนตรีพื้นบ้านอีสานเริ่มลดลงตั้งแต่วันแรกของการฟังดนตรี
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2561, January-March ปีที่: 41 ฉบับที่ 1 หน้า 12-23
คำสำคัญ
hypertension, ความดันโลหิตสูง, northeastern folk music, ดนตรีพื้นบานอีสาน