ประสบการณ์ด้านอาการและอิทธิพลของอาการต่อคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยวัยรุ่นโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยาระหว่างได้รับยาเคมีบำบัด
ปิยรัตน์ สมันตรัฐ, คนึงนิจ พงศ์ถาวรกมล*, Karin Olson, อรวมน ศรียุกตศุทธ, กลีบสไบ สรรพกิจ
ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การทำความเข้าใจในประสบการณ์ด้านอาการเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการพัฒนาผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย การวิจัยภาคตัดขวางวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ด้าน อาการและอิทธิพลของอาการต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งรับรู้โดยผู้ป่วยวัยรุ่นโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา 94 ราย ที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ณ แผนกกุมารเวชศาสตร์โลหิตวิทยาและมะเร็งในโรงพยาบาล ระดับตติยภูมิ 3 แห่งในกรุงเทพฯ โดยใช้แนวคิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ของเลนซ์และคณะ เป็นกรอบใน การศึกษา เก็บข้อมูลโดยให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล โรคและ การรักษา แบบบันทึกอาการจากโรคและการรักษา และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตสำหรับเด็ก
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกิดอาการหลายอาการระหว่างการรักษา อาการที่พบบ่อย ที่สุดได้แก่ อาการเจ็บปวด คลื่นไส้/อาเจียน ไม่อยากอาหาร รู้สึกวิตกกังวล และอาการผมร่วง นอกจาก นี้พบว่า อาการรู้สึกเศร้า ผมร่วง และนอนหลับยาก มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ โดยอธิบายร้อยละ 33.2 ของความผันแปรของคุณภาพชีวิต ผลการศึกษายีนยันหลักฐานเชิง ประจักษ์ของการเกิดอาการหลายอาการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เสนอแนะบทบาทของพยาบาลใน การเอาใจใส่ต่ออาการรู้สึกเศร้า ผมร่วง และนอนหลับยากในผู้ป่วยวัยรุ่นโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มนี้ระหว่างได้รับยาเคมีบำบัด
 
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2561, October-December ปีที่: 22 ฉบับที่ 4 หน้า 319-331
คำสำคัญ
chemotherapy, Health-related quality of life, คุณภาพชีวิต, เคมีบำบัด, Symptom experience, คุณภาพชี่วิต, Hematologic malignancies, โรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยา, ประสบการณ์ด้านอาการ