คุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตในโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
นาวาอากาศโทหญิงกาญจนา เกษกาญจน์
กองการพยาบาล โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
บทคัดย่อ
                การวิจัยเชิงพรรณนานี้ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตและมารับการตรวจนัดในคลินิกผู้ป่วยเปลี่ยนไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช รวม 90 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ใช้เครื่องมือวิจัย 2 ชุด คือ ข้อมูลส่วนบุคคล และแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF-THAI) พัฒนาโดย สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล และคณะ หาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือโดยใชข้สัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคเท่ากับ 0.88 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ เชิงพรรณนา ผลการวิจัยข้อมูลส่วนบุคคล พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยชาย (ร้อยละ 60.0) อายุเฉลี่ย 44.2 ปี มีสถานภาพสมรส คู่ (ร้อยละ 55.6) การศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 73.3) ประกอบอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 52.2) รายได้เฉลี่ย 17,632.56 บาท ระยะเวลาที่ได้รับไตใหม่เฉลี่ย 5.26 ปี ผู้ดูแลหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลคือสามี/ภรรยา ร้อยละ 38.9 หลังผ่าตัดต้องทำการล้างไต ร้อยละ 21.1 ผู้ป่วยมาตรวจตามนัดทุกครั้ง ร้อยละ 97.8 และด้านคุณภาพชีวิต พบว่า คุณภาพชีวิตในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยคะแนนอยู่ในระดับดี (X̅ = 3.76, SD = .39) และในรายด้าน พบว่า มีคุณภาพชีวิตระดับดีสองด้าน คือด้านจิตใจ (X̅= 4.03, SD = .47) รองลงมา คือ ด้านสุขภาพกาย (X̅= 3.72, SD = .47) และมีคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (X̅= 3.63, SD = .46) และด้านสัมพันธภาพทางสังคม (X̅=3.61, SD = .62) ตามลำดับ การศึกษานี้เสนอแนะให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้านที่มีคะแนนต่ำให้ดีขึ้น
 
ที่มา
Thai Journal of Nursing and Midwifery Practice ปี 2560, July-December ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 61-69
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Kidney transplantation, คุณภาพชี่วิต, การผ่าตัดปลูกถ่ายไต