รายงานประสิทธิผลของการนวดไทยสายราชสำนักร่วมกับการประคบกระเป๋าน้ำร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
มาริสา ลิมะพันธ์*, เบญจวรณ พูนธนานิวัฒน์กุล, นูรอัสมา ปุติ, กนกกร มอหะหมัด
วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จ.ยะลา
บทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: ปัจจุบันยาแก้ปวดประจำเดือนเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ หรือปวดธรรมดา ซึ่งจัดเป็นอาการที่พบมากที่สุดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ และร้อยละ 10 ของหญิงเหล่านี้ มีอาการรุนแรงจนต้องหยุดงานหรือขากเรียน แต่ในขณะเดียวกันแนวคิดการควบคุมอาการปวดโดยไม่ใช้ยาได้รับความสนใจและมีการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการกับความปวด หรือลดภาวะเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาในปริมาณที่สูงหรือหลายชนิดในการบรรเทาปวด การประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้หญิงนิยมใช้กันมาก เนื่องจากมีความสะดวกและใช้งานได้ง่าย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการนวดแผนไทยสายราชสำนักร่วมกับการประคบกระเป๋าน้ำร้อนเพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนเปรียบเทียบกับการรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน
วิธีดำเนินการ: การคัดเลือกลุ่มตัวอย่างร่วมกับเกณฑ์การคัดเลือกเข้ากลุ่มตัวอย่าง จำนวน 12 คน แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 6 คน ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย โดยกลุ่มทดลองได้รับการนวดไทยสาราชสำนักร่วมกับการประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อนในแต่ละครั้ง แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะการนวด คือ เริ่มต้นการนวดพื้นฐานขา เปิดประตูลมทั้ง 2 ข้าง การนวดจุดสัญญาณ 1- 3 หลัง เน้นสัญญาณ 1 การนวดจุดสัญญาณ 1- 3 ขาด้านนอกเน้นสัญญาณ 3 การนวดจุดสัญญาณ 1- 2 ขาด้านใน เน้นสัญญาณ 2 การนวดพื้นฐานท้องทั้ง 2 ข้าง ท่าแหวก ท่านาบ และการนวดจุดสัญญาณ 1 -5 ใช้เวลาในการนวดทั้งหมด 15 นาที เมื่อครบทุกขั้นตอนแล้วจึงนวดแต่ละขั้นตอนซ้ำอีกครั้ง ใช้เวลา 15 นาที รวมเวลาการนวดสองครั้ง 30 นาที 2) ระยะการประคบกระเป๋าน้ำร้อน ใช้กระเป๋าน้ำร้อนไฟฟ้าเสียบปลั๊กชาร์ตไฟเป็นเวลา 5 นาที ใช้ผ้าขนหนูห่อกระเป๋าน้ำร้อน เพื่อควบคุมอุณหภูมิแล้วจึงประคบบริเวณที่มีอาการปวด 15 นาที จุดละ 5 นาที กลุ่มควบคุมรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนเหมือนที่เคยปฏิบัติมา บันทึกอาการปวดประจำเดือนทุกเดือนเป็นระยะเวลา 2 เดือน ก่อนและหลังได้รับการนวดไทยกับการประคบกระเป๋าน้ำร้อนหรือรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือน โดยใช้แบบประเมินอาการปวดของวสุวัฒน์ และคณะ (2549) มาดัดแปลงและเพิ่มข้อคำถามเพื่อให้คำถามครอบคลุมเนื้อหาและตัวแปรที่ศึกษาทั้งหมด จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบคะแนนความต่างระหว่างกลุ่มใช้สถิติ Independent t-test ส่วนคะแนนความต่างภายในกลุ่มใช้สถิติ Paired t-test
ผลการศึกษา: กลุ่มที่ได้รับการนวดไทยร่วมกับการประคบมีคะแนนเฉลี่ยการปวดประจำเดือนต่ำกว่าก่อนได้รับการนวดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (เดือนที่ 1; p = .001, เดือนที่ 2; p=.014 โดยคะแนนเฉลี่ยรวมของระดับความปวดก่อนการทดลองในเดือนที่ 1 และเดือนที่ 2 เท่ากับ 7.08 และคะแนนเฉลี่ยรวมของระดับความปวดหลังหลังการทดลองในเดือนที่ 1 และเดือนที่ 2 เท่ากับ 2.33) และเมื่อทำการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยระดับอาการปวดระหว่างกลุ่มที่รับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนกับกลุ่มที่ได้รับการนวดไทยร่วมกับการประคบ พบว่า คะแนนเฉลี่ยของการปวดประจำเดือนหลังรับประทานยาและหลังได้รับการนวดไทยร่วมกับการประคบ มีคะแนนเฉลี่ยทางสถิติไม่แตกต่างกัน (หลังการทดลองกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง เดือนที่ 1; p=.153 โดยกลุ่มควบคุมหลังทดลองในเดือนที่ 1  = 15.83, S.D. = 15.79 กลุ่มทดลอง  = 4.83, S.D. = 4.26 และเดือนที่ 2; p = .065 โดยกลุ่มควบคุมหลังทดลองในเดือนที่ 2  = 13.33, S.D. = 8.26 กลุ่มทดลอง  = 5.33, S.D. = 2.87) แสดงให้เห็นว่าการนวดร่วมกับการปะคบกระเป๋าน้ำร้อนให้ผลที่ไม่แตกต่างกับการรับประทานยาแก้ปวด
ข้อสรุป: จำนวนกลุ่มตัวอย่างน้อยด้วยข้อจำกัดต่างๆ ผลที่ได้เป็นข้อมูลเบื้องต้นของการศึกษาดังกล่าว และจะได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน การศึกษาครั้งต่อไป ควรเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างให้มากขึ้น
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2559, May-August ปีที่: 14 ฉบับที่ 2 Suppl หน้า 18