ผลของโปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติต่อภาวะซึมเศร้าในผู้เป็นเบาหวาน
ดวงใจ วัฒนสินธุ์, ภรภัทร เฮงอุดมทรัพย์*, สมจิตร เสริมทองทิพย์, เวทิส ประทุมศรี
สาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา; e-mail: pornpath@buu.ac.th
บทคัดย่อ
การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติแบบกลุ่มต่อภาวะซึมเศร้าของผู้เป็นเบาหวานกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้เป็นเบาหวานที่มีภาวะซึมเศร้าในระดับเล็กน้อยถึงระดับปานกลาง โดยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่งานวิจัยกำหนด จำนวน24 คน สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 12 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ประเมินภาวะซึมเศร้าโดยใช้แบบวัดภาวะซึมเศร้าของเบค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ .83 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำและการทดสอบรายคู่ด้วยวิธีบอนเฟอร์โรนี
                ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้น และระยะติดตามผลแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผล 1 เดือน ต่ำกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โปรแกรมการบำบัดทางปัญญาบนพื้นฐานของสติแบบกลุ่มนี้ ช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้เป็นเบาหวาน ดังนั้นบุคลากรด้านสุขภาพ สามารถนำโปรแกรมฯไปประยุกต์ใช้เพื่อลดภาวะซึมเศร้าในผู้เป็นเบาหวานเพื่อการมีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดี
 
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2560, July-September ปีที่: 25 ฉบับที่ 3 หน้า 66-75
คำสำคัญ
Depression, persons with diabetes, mindfulness-based cognitive therapy, ภาวะซึมเศร้า ผู้เป็นเบาหวาน โปรแกรม