ผลของโปรแกรมการออกกำลังกายแบบชี่กงต่อระดับความดันโลหิตของสตรี กลุ่มเสี่ยงโรค ความดันโลหิตสูง อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี
ลลิตา บุญงาม*, ชนัญชิดาดุษฎี ทูลศิริ, สุวรรณา จันทร์ประเสริฐ
โรงพยาบาลสิงห์บุรี
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการออกกำลังกายแบบชี่กงต่อระดับความดันโลหิตของสตรีกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี กลุ่มตัวอย่างได้แก่ สตรีกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 60 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายแบบชี่กง ระยะเวลา 8 สัปดาห์ ทุกวันจันทร์-วันพฤหัสบดี ครั้งละ 60 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับความรู้ในการปฏิบัติตัวตามปกติ ประเมินระดับความดันโลหิตหลังสิ้นสุดการทดลอง 1 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองประกอบด้วยโปรแกรมการออกกำลังกายแบบชี่กง คู่มือการออกกำลังกายแบบชี่กง และเครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกายแบบชี่กง ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาคเท่ากับ .83 และแบบบันทึกระดับความดันโลหิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม
                ผลการวิจัยพบว่าภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมอยู่ในระดับดี (M = 2.88, SD = 0.24) และเมื่อควบคุมอิทธิพลของระดับความดันโลหิตซีสโตลิคและไดแอสโตลิค  ก่อนการทดลองกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระดับความดันโลหิตซีสโตลิคและไดแอสโตลิคต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F(1, 57) = 196.03, < .001; F(1, 57) = 67.36, p < .001 ตามลำดับ) จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิสามารถนำรูปแบบการออกกำลังกายแบบชี่กงไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน เพื่อควบคุมป้องกัน  การเกิดโรคความดันโลหิตสูงและลดจำนวนผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ต่อไป
 
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2560, January-March ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 82-94
คำสำคัญ
Blood pressure levels, ระดับความดันโลหิต, Qigong exercise program, prehypertensive women, โปรแกรมการออกกำลังกายแบบชี่กง, สตรีกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง