การประเมินต้นทุนต่อกิจกรรมและประสิทธิผลของโครงการบูรณาการการป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวี
มณฑินี วสันติอุปโภคากร*, สุเมธ องค์วรรณดี, วิภาดา มหรัตนวิโรจน์
สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
บทคัดย่อ
ที่มาและความสำคัญ: กลุ่มพนักงานบริการหญิง เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ประเทศไทยมุ่งดำเนินการเพื่อลดการติดเชื้อเอ็ชไอวีรายใหม่ให้ได้ 2 ใน 3 จากที่คาดประมาณในปี พ.ศ. 2559 แต่ข้อมูลในปี พ.ศ.2555 พบว่าอัตราความชุกการติดเชื้อเอ็ชไอวี ในกลุ่มพนักงานบริการหญิง คือ ร้อยละ 2.2 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายในยุทธศาสตร์ฯ เอดส์แห่งชาติ ที่กำหนดไว้ ร้อยละ 1.0 ในปี พ.ศ. 2559 ปีงบประมาณ พ.ศ.2557 กรมควบคุมโรค ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพในการจัดทำโครงการบูรณาการป้องกันและการติดเชื้อเอ็ชไอวีและการดูแลรักษาในกลุ่มพนักงานหญิง ในพื้นที่นำร่อง 15 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี นนทบุรี สุมทรสงคราม นครปฐม นครสวรรค์ พิษณุโลก อุดรธานี เลย สระแก้ว นครพนม นครศรีธรรมราช ชุมพร พังงา และสตูล
วัตถุประสงค์:  1. เพื่อประเมินต้นทุนรายกิจกรรมของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับโครงการบูรณาการการป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวีและการดูแลรักษาในกลุ่มพนักงานบริการหญิงในปีงบประมาณ พ.ศ.2557, 2. เพื่อประเมินต้นทุนประสิทธิผลและความคุ้มค่าทางสาธารณสุขของโครงการบูรณาการการป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวีและการดูแลรักษาในกลุ่มพนักงงานบริการหญิงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 , 3. เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาโครงการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อเอ็ชไอวีในกลุ่มพนักงงานบริการหญิงที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
วิธีการศึกษา: การวิเคราะห์ประเมินต้นทุนและประสิทธิผลของโครงการ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาต้นทุนผลตอบแทนแบบไปข้างหน้า (Prospective) มุมมองที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือมุมมองผู้จ่ายเงิน (Third Party) และการวิเคราะห์ประเมินความคุ้มค่าทางสาธารณสุข
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง: ประชากรที่ใช้ในการศึกษา แบ่งเป็นระดับนโยบาย ได้แก่ 1) เจ้าหน้าที่สำนักโรคเอดส์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 2) เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 15 แห่ง 3) หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ซึ่งรับผิดชอบโดยองค์กรภาคเอกชน (NGOs) 3 องค์กร ได้แก่ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนพนักงงานบริการ และสมาคมส่งเสริมพัฒนาการสังคม
สถิติที่ใช้ในการวิจัย : สถิติเชิงพรรณนา
ผลการศึกษา: การดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกิดต้นทุนประมาณ 5,291,862 บาท พบการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มพนักงานบริการ ร้อยละ 73 สามารถป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวีรายใหม่ (infection averted) 3,192 ราย คิดเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวีรายใหม่ 1,658 บาท/ราย เปรียบเทียบกับโครงการป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวีโดยการส่งเสริมการบูรณาการและสร้างเครือข่ายการเข้าถึงบริการกลุ่มประชากรที่มีภาวะเสี่ยงสูงซึ่งใช้ต้นทุนทั้งสิ้น 1,122,000,000 บาท พบการใช้ถุงอนามัยในกลุ่มพนักงานบริการร้อยละ 83 สามารถป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวีรายใม่ (infection averted) 3,586 ราย คิดเป็นการป้องกันการติดเชื้อเอ็ชไอวีรายใหม่ 312,796 ราย
สรุปผลการศึกษา: สรุปผลได้อย่างชัดเจนจากการศึกษาครั้งนี้ คือ โครงการฯ นี้ มีความคุ้มค่าทางสาธารณสุข เนื่องจากลดอัตราการติดเชื้อเอ็ชไอวีรายใหม่ในกลุ่มพนักงานบริการหญิง และทำให้กลุ่มพนักงานบริการหญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
 
ที่มา
วารสารโรคเอดส์ ปี 2560, February-May ปีที่: 29 ฉบับที่ 2 หน้า 71-84
คำสำคัญ
การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล, Female Sex Workers (FSW), Cost Effectiveness Analysis (CEA), The Value of Health, พนักงานบริการ, การคาดประมาณการติดเชื้อเอ็ชไอวี, ความคุ้มค่าทางสาธารณสุข