การศึกษาเปรียบเทียบผลการเลาะแยกถุงน้ำคล่ำออกจากมดลูกส่วนล่างกับการตรวจภายในต่อการชักนำการเจ็บครรภ์คลอดในสตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ทวีชัย จำรัสธนสาร, เยื้อน ตันนิรันดรDepartment of Obtetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10330, Thailand
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มตัวอย่างไปข้างหน้าเปรียบเทียบผลการเลาะแยกถุงน้ำคร่ำออกจากมดลูกส่วนล่าง กับการตรวจภายใน ในการชักนำการเจ็บครรภ์คลอดในสตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ที่ภาควิชา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างแบบสุ่มเป็น 2 กลุ่ม จากจำนวนตัวอย่าง 96 ราย และคัดออกตามเกณฑ์ 16 ราย เหลือ 80 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 41 ราย และกลุ่มควบคุม 39 ราย ทั้งสองกลุ่มได้รับการตรวจภายในโดยวิธีปราศจากเชื้อและวัดค่าคะแนน Bishop ในกลุ่มทดลองทำการเลาะแยกถุงน้ำคร่ำออกจากมดลูกส่วนล่าง ผลการวิจัยพบว่า ในกลุ่มทดลองมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์คลอดภายใน 7 วัน 35 คน จาก 41 คน คิดเป็นร้อยละ 85.4 กลุ่มควบคุมมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์คลอดภายใน 7 วัน 22 คน จาก 39 คน คิดเป็นร้อยละ 56.4 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.004) ระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่เข้ารับการศึกษาถึงทารกคลอดพบมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ในกลุ่มทดลองเท่ากับ 5.3 ± 4.9 ในกลุ่มควบคุมเท่ากับ 9.5 ± 5.9 วัน, P = 0.002) ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดกับมารดาและทารกในแต่ละกลุ่มไม่แตกต่างกัน โดยสรุปการเลาะแยกถุงน้ำคร่ำออกจากมดลูกส่วนล่างเป็น วิธีชักนำการเจ็บครรภ์คลอดวิธีหนึ่งที่มีความปลอดภัยและมีผลสำเร็จสูงในสตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2542, March
ปีที่: 82 ฉบับที่ 3 หน้า 229-233
คำสำคัญ
Induction of Labor, Membrane Stripping, Nonstripping Uncomplicated Term Pregnancy, การชักนำการเจ็บครรภ์คลอด, การเลาะแยกถุงน้ำคร่ำ, ครรภ์ครบกำหนดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน