ผลของการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ต่อความปวด และเวลาในระยะปากมดลูกเปิดเร็วในหญิงระยะคลอด
กิตติมา ด้วงมณี*, เยาวเรศ สมทรัพย์, ฐิติพร อิงคถารวงศ์, ศศิกานต์ กาละ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
บทคัดย่อ
               การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ต่อความปวดบริเวณท้อง ความปวดบริเวณหลังส่วนล่าง และเวลาในระยะปากมดลูกเปิดเร็วในหญิงระยะคลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ปกติที่มาคลอดโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ จำนวน 60 ราย ระหว่างเดือนเมษายน 2557 ถึง เดือนมีนาคม 2558 แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 30 ราย กลุ่มทดลองได้รับการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ เมื่อปากมดลูกเปิด 3-4 เซนติเมตร จัดท่าทุก 1 ชั่วโมง ครั้งละ 15 นาที จนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมด ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ (1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล (2) แบบบันทึกข้อมูลการตั้งครรภ์ (3) แบบบันทึกข้อมูลในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว และ (4) แบบประเมินความปวดชนิดมาตรวัดความปวดด้วยสายตาสำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ (1) คู่มือการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ในหญิงระยะคลอด และ (2) แผนสอนการปฏิบัติท่าผีเสื้อประยุกต์ เครื่องมือทั้งหมดได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลและผลการทดลองด้วยความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานความปวดบริเวณท้อง ความปวดบริเวณหลังส่วนล่าง และเวลาในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว ด้วยสถิติที่อิสระ (independent t-test) และสถิติแมน-วิทนีย์-ยู-เทส (Manna-Whitney U test)
                ผลการวิจัยมีดังนี้ (1) หญิงระยะคลอดที่ได้รับการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ มีความปวดบริเวณท้องไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ ทั้งช่วงที่ปากมดลูกเปิด 5-7 เซนติเมตร (p = 0.177) และช่วงปากมดลูกเปิด 8-10 เซนติเมตร (p = 0.864) (2) หญิงระยะคลอดที่ได้รับการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ มีความปวดบริเวณหลังส่วนล่างไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ ทั้งช่วงที่ปากมดลูกเปิด 5-7 เซนติเมตร (p = 0.144) และช่วงปากมดลูกเปิด 8-10 เซนติเมตร (p = 0.631) (3) หญิงระยะคลอดที่ได้รับการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ใช้เวลาเฉลี่ยในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว 155.17 นาที (S.D. = 71.98) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม ที่มีค่าเฉลี่ย 207.50 นาที (S.D. = 101.80) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำตัญทางสถิติ (p = 0.025) ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ช่วยให้เกิดความก้าวหน้าของการคลอดในระยะปากมดลูกเร็ว ดังนั้นควรนำการจัดท่าผีเสื้อประยุกต์ มาใช้ในระยะปากมดลูกเปิดเร็วเพื่อช่วยลดเวลาการคลอดให้สั้นลง
                                                                                                                             
 
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2560, January-April ปีที่: 9 ฉบับที่ 1 หน้า 35-49
คำสำคัญ
parturients, labor pain, Modified Bhadrasana Pose, Duration of Active Phase, การจัดท่าผีเสื้อประยุกต์, ความปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว, เวลาในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว, หญิงระยะคลอด