ผลของธาราบำบัดต่อความสามารถในการทรงตัวของเด็กสมองพิการ
รุ่งทิพย์ ดวงแก้ว*, สุธีรา ใจดี
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
บทคัดย่อ
                บทนำ : ธาราบำบัดเป็นวิธีการรักษาหนึ่งที่นำมาใช้ในผู้ป่วยเด็กสมองพิการ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับผลของธาราบำบัดต่อความสามารถในการทรงตัวในผู้ป่วยเด็กสมองพิการยังมีอยู่จำกัด การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของธาราบำบัดต่อความสามารถในการควบคุมการทรงท่าในผู้ป่วยเด็กสมองพิการ
                วิธีการศึกษา : ผู้เข้าร่วมงานวิจัยเป็นเด็กสมองพิการ จำนวน 27 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโดยการสุ่ม คือ กลุ่มธาราบำบัด 14 คน และกลุ่มควบคุม 13 คน ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดโดยกลุ่มธาราบำบัดได้รับการออกกำลังกายในน้ำด้วยเทคนิค Halliwick และกลุ่มควบคุมได้รับการรักษาทางกายบำบัดแบบปรกติ ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการฝึกเป็นเวลา 30 นาทีต่อครั้ง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยประเมินความสามารถในการทรงตัวขณะทำกิจกรรมต่างๆ (Pediatric balance scale: PBS) และความสามารถในการทรงตัวขณะเอื้อมในทิศทางต่างๆ (Pediatric reach test: PRT) ก่อนและหลังสิ้นสุดการออกกำลังกาย 8 สัปดาห์
                ผลการศึกษา : ความสามารถในการทรงตัวขณะทำกิจกรรมต่างๆ (PBS) ของทั้งสองกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติภายหลังการฝึก (p ≤ 0.05) และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังสิ้นสุดการออกกำลังกาย (p = 0.031) ส่วนค่าความสามารถในการทรงตัวขณะเอื้อม (PRT) ไปด้านข้างขวาในขณะนั่งและยืนมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสองกลุ่มภายหลังการฝึก (p ≤ 0.05) นอกจากนี้พบว่าการทรงตัวขณะเอื้อมไปด้านหน้าและด้านข้างซ้ายในขณะนั่งและยืนของกลุ่มธาราบำบัดเท่านั้นมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนออกกำลังกาย (p ≤ 0.05) สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่าความสามารถในการทรงตัวขณะเอื้อมไปด้านหน้าและด้านข้างซ้ายขณะนั่ง และเอื้อมไปด้านข้างซ้ายขณะยืนมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ≤ 0.05) เมื่อสิ้นสุดการออกกำลังกาย
                วิจารณ์และสรุปผลการศึกษา : ธาราบำบัดสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการทรงตัวขณะทำกิจกรรมต่างๆ และความสามารถในการทรงท่าขณะเอื้อมมือในทิศทางต่างๆ ดังนั้นธาราบำบัดจึงอาจเป็นวิธีการรักษาเพิ่มเติมสำหรับเด็กสมองพิการที่มีปัญหาในการทรงตัว
 
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2560, April-June ปีที่: 17 ฉบับที่ 2 หน้า 182-193
คำสำคัญ
balance control, Children with cerebral palsy, Hydrotherapy, Halliwick concept, เด็กสมองพิการ, ธาราบำบัด, การควบคุมการทรงตัว, แนวคิดของฮัลลิวิค