เปรียบเทียบผลระหว่างการออกกำลังกายในน้ำและบนบกต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจและสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและปอดในคนไทยที่มีภาวะน้าหนักเกินและอ้วน
ศศิภา บูรณพันธฤกษ์*, ขนิษฐา วัฒนนานนท์, ชนกนันท์ ภักดีกุล, กฤตวิทย์ แดงเพชร, กรอนงค์ ยืนยงชัยวัฒน์, ขจรศักดิ์ พงษ์พานิช, รุ่งชัย ชวนไชยะกุล
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
บทคัดย่อ
                บทนำ : ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน มีอาการหายใจลำบากขณะทำกิจกรรมต่างๆ และส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของระบบหายใจและหลอดเลือดลดลง มีการศึกษามากมายที่แนะนำการออกกำลังกายแบบ aerobic exercise ในกลุ่มที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและอ้วน อย่างไรก็ตามลักษณะการออกกำลังกายดังกล่าว (การออกกำลังกายบนบก) ยังเป็นสิ่งที่ยากสำหรับกลุ่มดังกล่าวเนื่องจากการลงน้ำหนักที่มากเกินไปซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มอาการปวดรยางค์ส่วนล่าง การออกกำลังกายในน้ำจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีภาวะดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาผลของการออกกำลังกายในน้ำและบนบกเพื่อเปรียบเทียบค่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจและสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและปอดในคนไทยที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน
                วิธีการศึกษา : อาสาสมัครเพศชายและหญิง มีค่าดัชนีมวลกายเท่ากับ 25.0 – 34.9 กิโลกรัมต่อเมตร และอัตราส่วนรอบเอวหารส่วนสูง > 0.5 จำนวน 50 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยการสุ่ม คือ กลุ่มออกกำลังกายในน้ำ (Aquatic exercise; N = 25) และกลุ่มออกกำลังกายบนบก (Land based exercise; N = 25) อาสาสมัครจะได้รับการฝึกจำนวน 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ อาสาสมัครทำการทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจเข้า (MIP) และออก (MEP) และวัดระยะทางที่ได้ภายหลังการเดิน 6 นาที (6MWT) ก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรม
                ผลการศึกษา : ภายหลังการฝึกกลุ่มออกกำลังกายในน้ำมีค่า MIP และ MEP เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (+13.53 ± 15.66 เซนติเมตรน้ำ และ +16.00 ± 18.94 เซนติเมตรน้ำ ตามลำดับ) ในขณะที่กลุ่มออกกำลังกายบนบกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และทั้งกลุ่มออกกำลังกายในน้ำและบนบกมีค่าระยะทางการเดิน (6MWT) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (+17.02 ± 30.10 เมตร และ +10.60 ± 25.36 เมตร ตามลำดับ)
                วิจารณ์และสรุปผลการศึกษา : การฝึกออกกำลังกายในน้ำสามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจและสมรรถภาพหัวใจและปอดในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนได้
 
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2560, January-March ปีที่: 17 ฉบับที่ 1 หน้า 28-40
คำสำคัญ
Obesity, Aquatic exercise, น้ำหนักเกิน, Overweight, Respiratory muscle strength, Cardio-pulmonary fitness, ออกกำลังกายในน้ำ, อ้วน, ความแข็งแรงกล้ามเนื้อหายใจ, สมรรถภาพการทำงานของหัวใจและปอด