การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของสตรีไทยที่มีอาการสัมพันธ์กับภาวะหมดระดูอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่ใช้และไม่ใช้การแพทย์ทางเลือก
มนันยา ศิลปกิจ*, ปองรัก บุญญานุรักษ์Department of Obstetrics and Gynecology, Phramongkutklao Hospital and College of Medicine, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-81-803-6586; E-mail: msilpakit@gmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตสตรีไทยอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่มีอาการสัมพันธ์กับภาวะหมดระดูที่ใช้และไม่ใช้การแพทย์ทางเลือก
วัสดุและวิธีการ : เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างได้แก่ สตรีไทยที่มีอาการสัมพันธ์กับภาวะหมดระดูอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ที่มารับบริการด้านสุขภาพที่คลินิกนรีเวช โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้ทำแบบสอบถามด้วยตนเอง ประกอบไปด้วยข้อมูลทั่วไป ข้อมูลด้านการใช้แพทย์ทางเลือก และแบบสอบถามคุณภาพชีวิตสำหรับวัยหมดประจำเดือน โดยใช้ menopause specific quality of life (MENQOL) ฉบับภาษาไทย จำนวน 29 ข้อ คะแนนต่ำหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ตัวชี้วัดที่สำคัญคือความแตกต่างของคุณภาพชีวิตระหว่างสองกลุ่มดังกล่าว
ผลการศึกษา : สตรีที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 204 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้แพทย์ทางเลือก กลุ่มละ 102 คน โดยอายุเฉลี่ยทั้งหมดคือ 56.45 ปี จากการศึกษาพบว่าคะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยไม่ต่างกันระหว่างสองกลุ่ม คือ คะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ย ± ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้แพทย์ทางเลือก เท่ากับ 2.18±1.15 คะแนน และ 2.01±0.88 คะแนน ตามลำดับ (p = 0.593) เกือบทุกประเภทของแพทย์ทางเลือกสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตที่แย่ โดยเฉพาะกลุ่ม energy therapy ที่พบว่ามีคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (p = 0.019) อย่างไรก็ตามมีเพียงกลุ่ม mind-body interventions ที่พบว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
สรุป : ในภาพรวมไม่พบความสัมพันธ์ในด้านคุณภาพชีวิตของสตรีวัยหมดระดูระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้การแพทย์ทางเลือก และการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อดูความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ของการใช้แพทยฺทางเลือกเป็นสิ่งจำเป็น
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, June
ปีที่: 100 ฉบับที่ 6 หน้า 621-629
คำสำคัญ
Quality of life, Menopause, menopause-related symptoms, Complementary and alternative medicine