ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุไทยในชุมชน
จันทพงษ์ วะสี, ประเสริฐ อัสสันตชัย, พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ, รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ*, อุไรวรรณ โฆษิตานนท์
Department of Medicine, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชน วัสดุและวิธีการ: การศึกษานี้เป็นแบบ stratified, randomized, double-blind, placebo- controlled studyโดยทำการศึกษาในผู้สูงอายุไทยในชุมชนรอบ รพ.ศิริราช จำนวน 635 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มศึกษา 330 คน ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และกลุ่มควบคุม 305 คน ได้รับ tetanus toxoid ได้ทำการเจาะเลือดตรวจหา influenza antibody ก่อนฉีดวัคซีน และติดตามเจาะเลือดตรวจหา influenza antibody หลังฉีดวัคซีนครบ 1, 5 และ 12 เดือน โดยวิธี haemagglutination inhibition (HI) test ได้ ติดตามสอบถามอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ตามเกณฑ์ทางคลินิก การรักษาที่ได้รับ การรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทางจดหมาย และโทรศัพท์ โดยผู้สอบถามซึ่งไม่ทราบถึงชนิดของวัคซีนทุก 4-6 สัปดาห์ ผลการศึกษา: การตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนครบ 1 เดือนอยู่ในเกณฑ์สูงมากถึงร้อยละ 97.1 และระดับ protective titer ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A (H1N1) และ A(H3N2) สูงถึงร้อยละ 96.4 และ 98.6 ตามลำดับ อุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ในผู้สูงอายุของกลุ่มควบคุมเท่ากับร้อยละ 10.88 ในขณะที่อุบัติการณ์ในกลุ่มศึกษามีเพียงร้อยละ 4.83 relative risk reduction เท่ากับ 56% (95% CI = 14-77%) และยืนยันจาก survival analysis ว่ากลุ่มศึกษามีอัตราการไม่เป็นไข้ หวัดใหญ่สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน (p = 0.009) ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มีน้อยและไม่รุนแรง ซึ่งไม่ต่างจากกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตามไม่มีผู้สูงอายุรายใดเป็นโรคปอดอักเสบ หรือ เสียชีวิตเนื่องจากสาเหตุซึ่งเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งพบว่าจำนวนครั้งของการรักษาตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในผู้สูงอายุทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน สรุป: การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ให้แก่ผู้สูงอายุไทยซึ่งอาศัยในชุมชน ช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้ประมาณครึ่งหนึ่ง การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในผู้สูงอายุ ในปีที่ทำการศึกษาไม่รุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต ซึ่งเมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายจากการฉีดวัคซี น และจำนวนผู้สูงอายุ ซึ่งต้องรับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการเกิดโรค 1 คน เทียบกับความรุนแรงของโรค สรุปจากมุมมองของผู้ให้บริการว่าหากอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดกับผู้สูงอายุในชุมชนเป็นดังปีที่ศึกษา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนทุกคนทุกปีอาจได้ผลไม่คุ้มค่า แต่ควรพิจารณาฉีดวัคซีนเมื่อเริ่มมีการระบาดในต่างประเทศ และคาดว่าจะมีการระบาดใหญ่ เกิดขึ้นในประเทศไทย
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2548, February ปีที่: 88 ฉบับที่ 2 หน้า 256-264
คำสำคัญ
cost-effectiveness, Vaccine, elderly, Efficacy, Influenza