การศึกษาแบบสุ่มและปิดบังสองทางในการให้น้ำตาลซูโครสและยาหลอกทางปากในการลดความเจ็บปวดจากการตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนด
นิธิพันธ์ สุขสุเมฆ*, ชัียศิริ จำเริญดารารัศมี, ณัฐพงษ์ ฐิติรัตน์สานนท์, นพรัตน์ สุธราพนากิจ, สันติ ปุณณะหิตานนท์
Department of Pediatrics, Phramongkutklao College of Medicine, Bangkok 10400, Thailand; Phone:+66-2-3547600 ext. 94163, 94109, Fax: +66-2-3547827; E-mail: drnithipun@hotmail.com
บทคัดย่อ
                ภูมิหลัง : การตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนด เป็นหัตถการที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และมีผลต่อสรีรวิทยาของการรับรู้ต่อความเจ็บปวดนั้นเพิ่มมากขึ้น และมีผลต่อเนื่องทำให้เกิดการเจ็บปวดแบบเรื้อรังได้ การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่นการให้น้ำตาลซูโครสถูกนำมาใช้ แต่ในปัจจุบันนี้แนวทางการรักษานี้ยังมีข้อมูลการศึกษาที่ไม่เพียงพอและยังไม่เป็นมาตรฐาน
                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลการลดความเจ็บปวดและการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาจากการตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนด โดยการให้น้ำตาลซูโครสทางปาก
                วัสดุและวิธีการ : ศึกษาในทารกแรกเกิดที่เมื่อแรกเกิดมีอายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์ หรือน้ำหนัดแรกเกิดน้อยกว่า 1,500 กรัม หรือน้ำหนักแรกเกิดระหว่าง 1,500 ถึง 2,000 กรัม หรือายุครรภ์เมื่อแรกเกิดมากกว่า 32 สัปดาห์ที่มีภาวะเสี่ยง กลุ่มทดลองได้รับ น้ำตาลซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 24 ปริมาณ 0.2 มิลลิลิตร เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำบริสุทธิ์ 2 นาที ก่อนการตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนดครั้งแรก และทำการประเมินความเจ็บปวดก่อนและขณะตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนดโดยใช้มาตรวัดเอ็น-พาส
                ผลการศึกษา : ทารก 40 คนถูกแบ่งกลุ่มแบบสุ่ม เป็น 2 กลุ่ม (กลุ่มทดลอง 19 คน และกลุ่มควบคุม 21 คน) การทดสอบความแตกต่างของค่ากลางของสองประชากรอิสระพบความเจ็บปวดจากการตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาโดยใช้มาตรวัดเอ็น-พาส ในกลุ่มที่ได้รับน้ำตาลซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 24 มีคะแนนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำบริสุทธิ์ 2 คะแนน ขณะตรวจตา (p = 0.02) ทารก 11 คน (ร้อยละ 57.9) ในกลุ่มทดลอง และ 18 คน (ร้อยละ 66.7) ในกลุ่มควบคุมมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติและสูงขึ้นกว่าขณะพัก ไม่พบภาวะไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงในทั้งสองกลุ่ม
                สรุป : การให้น้ำตาลซูโครสความเข้มข้นร้อยละ 24 ทางปาก 1 ครั้งก่อนการตรวจตา มีประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวดจากการตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนด
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, May ปีที่: 100 ฉบับที่ 5 หน้า 521-527
คำสำคัญ
Retinopathy of prematurity (ROP), oral sucrose solution, N-PASS (Neonatal Pain, Agitation and Sedation Scale)