ผลของการให้ข้อมูลสนับสนุนทางด้านจิตใจต่อระดับความวิตกกังวลของสตรีตั้งครรภ์ที่กำลังรอผลการตรวจน้ำคร่ำ
อัมประภา เผ่าพันธ์, นัดดา มงคลชาติ, ประคอง ชื่นวัฒนา*
Maternal Fetal Medicine Unit, Department of Obstetrics and Gynaecology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand; Phone: +66-2-4194653-4, Fax: +66-2-4194864 ; E-mail: prakong.chn@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการให้ข้อมูลสนับสนุนทางด้านจิตใจต่อระดับความวิตกกังวล และประสบการณ์ด้านจิตใจของสตรีตั้งครรภ์ที่กำลังรอผลการตรวจน้ำคร่ำ
วัสดุและวิธีการ : กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับการเจาะน้ำคร่ำเพื่อวินิจฉัยกลุ่มอาการดาวน์ โดยสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจน้ำคร่ำตามมาตรฐานและกลุ่มทดลอง ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจน้ำคร่ำตามมาตรฐานร่วมกับการได้รับข้อมูลสนับสนุนทางด้านจิตใจ เก็บข้อมูลโดยการประเมินความวิตกกังวลขณะเผชิญ 4 ครั้ง คือ ภายหลังการเจาะน้ำคร่ำ (วันที่ได้รับการเจาะน้ำคร่ำ) ก่อนโทรศัพท์ (1 วัน ก่อนวันนัดมารับการตรวจน้ำคร่ำ เพื่อขอรับการยืนยันการมารับผลการตรวจน้ำคร่ำ) ภายหลังโทรศัพท์ (ภายหลังจากกลุ่มทดลองได้รับข้อมูลสนับสนุนทางด้านจิตใจแล้ว) และก่อนได้รับผลการตรวจน้ำคร่ำ (วันนัดฟังผลการตรวจน้ำคร่ำ) และการสัมภาษณ์แบบกึ่งมีโครงสร้างถึงประสบการณ์ด้านจิตใจในช่วงระหว่างการรอฟังการตรวจน้ำคร่ำ (ภายหลังทำแบบประเมินความวิตกกังวลครั้งสุดท้าย และก่อนได้รับผลการตรวจน้ำคร่ำ)
ผลการศึกษา : ค่าเฉลี่ยความวิตกกังวลขณะเผชิญภายหลังการเจาะน้ำคร่ำและก่อนโทรศัพท์ของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยความวิตกกังวลขณะเผชิญภายหลังโทรศัพท์และก่อนได้รับผลการตรวจน้ำคร่ำของกลุ่มทดลอง น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (36.69 vs. 42.50, p<0.001 และ 39.16 vs. 42.82, p<0.05 ตามลำดับ) โดยพบว่าภาวะทางจิตใจของกลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแลง 3 ระยะ คือ ระยะความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของทารกในครรภ์ ระยะความไม่มั่นใจในผลการตรวจน้ำคร่ำ และระยะการมีความหวังในผลการตรวจน้ำคร่ำ โดยภาวะทางจิตใจของกลุ่มควบคุมส่วนใหญ่มักหยุดอยู่ที่ระยะความไม่มั่นใจในผลการตรวจน้ำคร่ำ ในขณะที่ภาวะทางจิตใจของกลุ่มทดลองมีการเปลี่ยนแลงต่อไปจนถึงระยะการมีความหวังในผลการตรวจน้ำคร่ำ ภายหลังจากที่กลุ่มทดลองได้รับข้อมูลสนับสนุนทางด้านจิตใจแล้ว
สรุป : การให้ข้อมูลสนับสนุนทางด้านจิตใจสามารถช่วยลดความวิตกกังวลของสตรีตั้งครรภ์ที่กำลังรอผลการตรวจน้ำคร่ำได้ ดังนั้นจึงควรมีการให้ข้อมูลสนับสนุนทางด้านจิตใจแก่สตรีตั้งครรภ์ที่กำลังรอผลการตรวจน้ำคร่ำทุกราย โดยข้อมูลที่ให้แก่สรตีตั้งครรภ์จะต้องมีความถูกต้องและเป็นความจริง
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, April ปีที่: 100 ฉบับที่ 4 หน้า 374-381
คำสำคัญ
Anxiety, Supportive information, Awaiting amniocentesis results