คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่ได้รับรังสีรักษา
อัศรียา ชูมะโชติ
ห้องตรวจรังสีรักษา ฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยพรรณนาเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่ได้รับรังสีรักษา 3 ระยะ คือ ระหว่างระยะก่อนได้รับรังสีรักษา สัปดาห์สุดท้ายของการได้รับรังสีรักษา และหลังได้รับรังสีรักษาครบ 6 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่มารับการรักษาด้วยรังสีรักษาเป็นครั้งแรก ที่หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือน ธันวาคม 2557 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 46 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคลและแบบวัดคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ ( FACT-H&N)วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซํ้า (ANOVA) และการทดสอบของเซฟเฟ่ (Scheffe')
ผลการศึกษาพบว่า คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตโดยรวมในสัปดาห์สุดท้ายของการได้รับรังสีรักษา และหลังได้รับรังสีรักษา 6 สัปดาห์มีคุณภาพชีวิตตํ่ากว่าก่อนได้รับรังสีรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 เมื่อเปรียบเทียบเป็นรายด้าน พบว่า ด้านร่างกาย และด้านเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ ในสัปดาห์สุดท้ายของการได้รับรังสีรักษา และหลังได้รับรังสีรักษา 6 สัปดาห์มีคุณภาพชีวิตตํ่ากว่าก่อนได้รับรังสีรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่คะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตหลังได้รับรังสีรักษา 6 สัปดาห์ และสัปดาห์สุดท้ายของการได้รับรังสีรักษาไม่แตกต่างกัน ส่วนคุณภาพชีวิตด้านสังคมและครอบครัว ด้าน
อารมณ์และจิตใจ และด้านปฏิบัติกิจกรรม พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทั้ง 3 ระยะ ดังนั้นบทบาทของพยาบาลควรส่งเสริมการดูแลตนเองและดูแลช่องปากของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอที่ได้รับรังสีรักษา เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากรังสีรักษาและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
 
ที่มา
วารสารมะเร็งวิวัฒน์ ปี 2559, January-June ปีที่: 22 ฉบับที่ 1 หน้า 24-33
คำสำคัญ
Quality of life, Head and neck cancer, Radiotherapy, คุณภาพชีวิต, รังสีรักษา, คุณภาพชี่วิต, มะเร็งศีรษะและคอ