ผลของการฉีด Lidocaine เข้าเนื้อเยื่อใต้หลอดมดลูก เพื่อลดความเจ็บปวดขณะผ่าตัดทำหมันหลังคลอดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์์
มลฤดี ประสิทธิ์, ยุทธพงศ์ วีระวัฒนตระกูล, วิลาสินี ส่งเสริม*, สมปอง ทองผา, เจน โสธรวิทย์Department of Obstetrics and Gynecology, Faculty of Medicine, Khon KaenUniversity, Khon Kaen, Thailand, E-mail: rtvsinata@hotmail.com
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการฉีด Lidocaine เข้าเนื้อเยื่อใต้หลอดมดลูก เพื่อลดความเจ็บปวดขณะทำและหลังทำหมันหลังคลอดในโรงพยาบาลศรีนครินทร์
วัสดุและวิธีการ : สตรีหลังคลอดจำนวน 139 ราย เข้าร่วมการศึกษา แต่ถูกคัดออก 79 ราย คงเหลือสตรีหลังคลอดที่มีสุขภาพแข็งแรง และไม่มีข้อห้ามในการทำหมัน 60 ราย ได้รับการทำหมันหลังคลอดภายใต้การระงับปวด โดยใช้ยาชาเฉพาะที่โดยแพทย์ใช้ทุน และแพทย์ประจำบ้านภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ทำการสุ่มโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มได้รับสารละลายฉีดเข้าเนื้อเยื่อใต้หลอดมดลูก 4 มิลลิลิตร สำหรับสองข้าง กลุ่มที่ 1 ได้รับ 1% Lidocaine 40 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ 2 ได้รับน้ำเกลือ (Normal saline) ทำการวัดระดับความเจ็บปวดโดยใช้ Numerical rating scale (NRS 0-10) ในระหว่างการทำหมัน หลังจากการทำหมันทันที และหลังจากการทำหมัน 1 ชั่วโมง
ผลการศึกษา : ค่าเฉลี่ยความเจ็บปวดในกลุ่มที่ได้รับ Lidocaine และกลุ่มที่ได้รับน้ำเกลือ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งในระหว่างการทำหมัน หลังจากการทำหมันทันที และหลังจากการทำหมัน 1 ชั่วโมง (mean difference -0.7, 95%Cl, -1.65 to 0.25 (p-value 0.147))
สรุป : การฉีด Lidocaine เข้าเนื้อเยื่อใต้หลอดมดลูกขณะผ่าตัดทำหมันหลังคลอด ไม่มีประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวด ทั้งในระหว่างการผ่าตัดทำหมัน หลังจากการผ่าตัดทำหมันทันที หรือหลังจากการผ่าตัดทำหมัน 1 ชั่วโมง
ที่มา
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ปี 2560, January
ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 11-17
คำสำคัญ
Lidocaine, ลิโดเคน, Mesosalpinx, Post-partum tubal sterilization, เนื้อเยื่อใต้หลอดมดลูก, การทำหมันหลังคลอด