การศึกษาเปรียบเทียบเวลาที่ใช้ในการใส่ท่อช่วยหายใจโดยใช้อุปกรณ์แบบมีกล้อง (GlideScope®) กับแบบมาตรฐาน (McIntosh laryngoscope) ในผู้ป่วยอ้วน
วิรัตน์ วศินวงศ์*, วิมานะ ภักดีธนากุล, อรรัตน์ กาญจนวนิชกุล, บุศรินทร์ ศรีญาณลักษณ์
Department of Anesthesia, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkhla 90110, Thailand; Phone: +66-74-451651-2, Fax: +66-74-429621; E-mail: wwasinwong@hotmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : ภาวะใส่ท่อช่วยหายใจยากพบในผู้ป่วยอ้วนได้บ่อยกว่าผู้ป่วยน้ำหนักปกติ ปัจจุบัน GlideScope® เป็นอุปกรณ์ใส่ท่อช่วยหายใจแบบมีกล้องซึ่งช่วยให้มองเห็นกล่องเสียงได้ดีกว่า McIntosh laryngoscopeในคนน้ำหนักตัวปกติ
          วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบเวลาที่ใช้ในการใส่ท่อช่วยหายใจระหว่าง McIntosh laryngoscope กับ GlideScope® ในผู้ป่วยอ้วน
                วัสดุและวิธีการ : ผู้ป่วยอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 28 kg/m2) ที่ผ่านการสุ่มจำนวน 46 ราย และมี American Society of Anesthesiologists physical ในระดับ 1-2 ที่เข้ารับการผ่าตัดโดยใช้การระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวและต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ถูกแบ่งเป็นกลุ่มใส่ท่อช่วยหายใจโดยใช้ McIntosh laryngoscope และกลุ่มใช้ GlideScope® ผู้ป่วยมีอายุ 18-65 ปี ใส่ท่อช่วยหายใจโดยแพทย์ประจำบ้านวิสัญญีวิทยาปีสองที่มีประสบการณ์การใช้ GlideScope® มากกว่า 10 ครั้ง เก็บข้อมูลเวลาใส่ท่อช่วยหายใจ การมองเห็นกล่องเสียง (laryngoscopic view, Cormack และ Lehane grade) จำนวนครั้งของการใส่ท่อช่วยหายใจ อัตราความสำเร็จ วิธีการอื่นที่ใช้ช่วยในการใส่ท่อช่วยหายใจ ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
                ผลการศึกษา : เวลาที่ใช้ใส่ท่อช่วยหายใจในกลุ่ม GlideScope® (31 วินาที) ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่ใช้ McIntosh laryngoscope (29 วินาที) การใช้ GlideScope® ช่วยให้มองเห็นกล่องเสียงได้ดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.007) โดยค่ากลางของกลุ่ม McIntosh laryngoscope คือ laryngoscopic view grade 2 และค่ากลางของกลุ่ม GlideScope® คือ grade I (p = 0.007) ผู้ป่วยทุกรายในกลุ่ม G ได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจสำเร็จในครั้งแรก แต่มีผู้ป่วย 2 ราย ในกลุ่ม M ต้องใส่ท่อช่วยหายใจมากกว่าหนึ่งครั้ง โดยที่ 1 ราย ใส่สำเร็จในครั้งที่สอง ส่วนอีกหนึ่งรายใส่สำเร็จในครั้งที่สามด้วย GlideScope® อย่างไรก็ตามพบว่าอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจสำเร็จ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
                สรุป : เวลาที่ใช้ใส่ท่อช่วยหายใจและอัตราความสำเร็จระหว่างการใช้ McIntosh laryngoscopeกับ GlideScope®ในผู้ป่วยอ้วน ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่า GlideScope® ช่วยให้มองเห็นกล่องเสียง (laryngoscopic view)ได้ดีกว่า McIntosh blade
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, March ปีที่: 100 ฉบับที่ 3 หน้า 306-312
คำสำคัญ
Videolaryngoscope, GlideScope®, Obese patients, Intubation time