การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของครีมสมุนไพร และเทรทิโนอินครีม 0.1% ในการรักษารอยแตกลายในวัยรุ่น
ประโพธ อัศววรฤทธิ์, สุวดี ชวนไชยะกูล, นันทิชา คมนามูล, ธนาพร ปิยะเวชวิรัตน์, มนตรี อุดมเพทายกุล*Skin Center, Faculty of Medicine, Srinakharinwirot University, Bangkok 10110, Thailand; Phone: +66-2-2594260; E-mail: umontree@gmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : รอยแตกลายเป็นภาวะที่เกิดจากการยืดตัวของผิวหนังมากกว่าปกติสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น แม้จะไม่มีผลทางด้านสุขภาพกายแต่มีผลต่อสุขภาพทางจิตใจ การรักษาภาวะรอยแตกลายที่มีประสิทธิภาพจะสามารถลดความกังวลและมีส่วนช่วยในการพัฒนาบุคลิกภาพของกลุ่มคนดังกล่าวได้
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการรักษารอยแตกลาย โดยการใช้ครีมสมุนไพร เทียบกับเทรทิโนอินครีม 0.1%
วัสดุและวิธีการ : มีการสุ่มเพื่อแบ่งอาสาสมัคร 48 รายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งได้รับเทรทิโนอินครีม 0.1% ส่วนกลุ่มที่สองได้รับครีมสมุนไพร กำหนดให้อาสาสมัครทาครีมที่ได้รับวันละหนึ่งครั้งเป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ โดยติดตามการรักษาทุก 4 สัปดาห์ ด้วยการวัดความกว้าง ความยาว และความหยาบของรอยแตกลาย และให้อาสาสมัครประเมินประสิทธิภาพของการรักษารวมถึงผลข้างเคียงในสัปดาห์ที่ 16 นอกจากนี้ยังได้มีการตัดชิ้นเนื้อจากอาสาสมัครกลุ่มละ 5 รายก่อนและหลังการศึกษาเพื่อประเมินลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาของรอยแตกลาย
ผลการศึกษา : มีอาสาสมัครจำนวน 39 รายที่ได้มาติดตามการรักษาจนครบ 16 สัปดาห์ ความกว้างของรอยแตกลายลดลง 9.01% (p = 0.002) ในกลุ่มเทรทิโนอิน และลดลง 13.09% (p<0.001) ในกลุ่มครีมสมุนไพร ความยาวของรอยแตกลายลดลง 9.54% (p<0.001) ในกลุ่มเทรทิโนอิน และลดลง 8.73% (p<0.001) ในกลุ่มครีมสมุนไพร จากการวัดความหยาบของพื้นผิวรอยแตกลายด้วยเครื่องวิสิโอสแกนนั้น มีความหยาบที่ลดลง 13.70% (p = 0.036) ในกลุ่มเทรทิโนอิน และลดลง 17.24% (p<0.001) ในกลุ่มครีมสมุนไพร จากการศึกษาชิ้นเนื้อด้วยการย้อมเอช แอนด์ อี โดยการเทียบชิ้นเนื้อหลังการรักษา 16 สัปดาห์กับชิ้นเนื้อก่อนเริ่มการรักษา พบว่าความหนาของชั้นหนังกำพร้ามีค่า mean difference 4.79±7.15 ไมครอนในกลุ่มเทรทิโนอิน และ 14.22±16.98 ไมครอนในกลุ่มครีมสมุนไพร นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของปริมาณคอลลาเจนนั้นมีค่า mean difference 13.75±6.02 หน่วยในกลุ่มเทรทิโนอิน และ 6.60±4.92 หน่วยในกลุ่มครีมสมุนไพร จากการย้อมชิ้นเนื้อด้วย Masson trichrome พบว่าปริมาณคอลลาเจนมีค่าเฉลี่ยของความแตกต่างระหว่างสองกลุ่ม (mean difference) 6.75±3.50 หน่วยในกลุ่มเทรทิโนอิน และ 12.20±7.73 หน่วยในกลุ่มครีมสมุนไพร สำหรับการย้อมชิ้นเนื้อด้วย Verhoff van Gieson ปริมาณอิลาสตินมีค่า mean difference 2.25±3.30 หน่วยในกลุ่มเทรทิโนอิน และ 5.40±4.16 หน่วยในกลุ่มครีมสมุนไพร จากการศึกษาชิ้นเนื้อที่กล่าวมาไม่พบความแตกต่างอย่างนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่ม อาสาสมัครกลุ่มที่ใช้เทรทิโนอินมีผลข้างเคียง เช่น อาการคัน แสบ และผิวลอกเป็นขุย คิดเป็น 72.73% ในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับครีมสมุนไพรมีการระคายเคืองจากยาเพียง 4.55% อาสาสมัครในทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการรักษา
สรุป : ครีมสมุนไพรมีประสิทธิภาพในการรักษารอยแตกลายเทียบเท่ากับเทรทิโนอินแต่เนื่องจากเทรทิโนอินสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังมากกว่า ครีมสมุนไพรจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, January
ปีที่: 100 ฉบับที่ 1 หน้า 93-99
คำสำคัญ
Aloe vera, Striae alba, Stretch marks, Centellaasiatica, Tretinoin