ประสิทธิภาพของยาพาริค็อกซิบเมื่อให้ทางหลอดเลือดดำในการลดปริมาณยาระงับปวดเทียบเท่ากับการฉีดยาชาเฉพาะที่ที่เส้นประสาทไซแอททิค ในการบำบัดปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เมื่อใช้ร่วมกับการให้ยาชาเฉพาะที่ที่เส้นประสาทฟีมอรัลอย่างต่อเนื่อง
นุช ตันติศิรินทร์*, ธีรวัฒน์ ชลาชีวะ, สุวิมลวดี สายพิมพ์พงษ์, De Q.H. Tran, Roderick J Finlayson
Ramathibodi Hospital, Department of Anesthesiology, 270 Rama VI road, Ratchatewi, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-2-2011513; E-mail: doctornuj@gmail.com, nuj.ton@mahidol.ac.th
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : การให้ยาชาเฉพาะที่ที่เส้นประสาทฟีมอรัลอย่างต่อเนื่องหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในการบำบัดปวดหลังผ่าตัด แต่วิธีดังกล่าวไม่ครอบคลุมการบำบัดปวดทางด้านหลังของข้อเข่าซึ่งต้องใช้ยาระงับปวดกลุ่มอนุพันธ์ฝิ่นในการบำบัด วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือ ศึกษาประสิทธิภาพของยาพาริค็อกซิบ ในการลดปริมาณยาระงับปวดเมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดยาชาเฉพาะที่ที่เส้นประสาทไซแอททิค
                วัสดุและวิธีการ : เมื่อได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนโรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว ได้ทำการรวบรวมผู้เข้าร่วมวิจัย ได้แก่ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2557 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2557 โดยทุกคนจะได้รับการบำบัดปวดด้วยวิธีการหยดยาชา เฉพาะที่ที่เส้นประสาทฟีมอรัลอย่างต่อเนื่องด้วยบูพิวาเคอีน 0.125 เปอร์เซ็นต์ 7 มล.ต่อชม. ร่วมกับการใช้เครื่องหยดให้ยาแก้ปวดเมื่อต้องการ ผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 ได้รับการบำบัดปวดเพิ่มเติมด้วยวิธีการฉีดยาชาเฉพาะที่ที่เส้นประสาทไซแอททิคด้วยบูพิวาเคอีน 0.25 เปอร์เซ็นต์ 25 มล. กลุ่มที่ 2 ได้รับยาพาริค็อกซิบทางหลอดเลือดดำปริมาณ 40 มก. ทุก 12 ชม. กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มควบคุม ผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกประเมินที่ 0, 6, 12 และ 24 ชม. หลังผ่าตัด โดยทีมวิจัยที่ไม่ทราบกลุ่มที่ผู้เข้าร่วมวิจัยอยู่ซึ่งจะประเมินระดับความปวด 0 ถึง 10 ขณะพัก ปริมาณยามอร์ฟีนที่ใช้ เวลาที่ใช้ยามอร์ฟีนครั้งแรก และผลข้างเคียงของยามอร์ฟีน
                ผลการศึกษา : มีผู้เข้าร่วมงานวิจัย 78 คน โดยแบ่งเป็น 26 คนในแต่ละกลุ่ม ไม่พบความแตกต่างในระดับความปวดหลังผ่าตัด แต่พบว่า กลุ่ม 3 ใช้ปริมาณมอร์ฟีนสูงกว่า (17±12 มก.) กลุ่ม 1 (10±7 มก.) และ 2 (9±5 มก.) อย่างมีนัยสำคัญ (p < 0.001) ที่ 24 ชม. หลังผ่าตัดไม่พบความแตกต่างในเวลาที่เริ่มใช้มอร์ฟีน ผลข้างเคียงจากยามอร์ฟีน และความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมวิจัย
                สรุป : การให้ยาพาริค็อกซิบทางหลอดเลือดดำและการฉีดยาชาเฉพาะที่ที่เส้นประสาทไซแอททิค สามารถลดปริมาณการใช้มอร์ฟีน เมื่อใช้ร่วมกับการให้ยาชาเฉพาะที่ที่เส้นประสาทฟีมอรัลอย่างต่อเนื่องในการบำบัดปวดหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2560, January ปีที่: 100 ฉบับที่ 1 หน้า 57-63
คำสำคัญ
Parecoxib, Total knee arthroplasty, Sciatic nerve block