ผลของการให้คำแนะนำด้านโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้หรือระยะแพร่กระจายที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
นภาวรรณ ศุกรภาส*, บุษยามาศ ชีวสกุลยง, ศุภวรรณ บูรณพิร
Division of Medical Oncology, Department of Medicine, Chiang Mai University, Chiang Mai 50200, Thailand; Phone & Fax: +66-53-945480; E-mail: snapawan@hotmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : ภาวะทุพโภชนาการในโรคมะเร็ง ทำให้ได้รับผลการรักษาที่แย่ลง คุณภาพชีวิตลดลง ความสามารถในการทำงานลดลง และมีการเลื่อนการรักษาออกไปมากขึ้น
          วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการให้คำแนะนำด้านการรับประทานอาหารจากนักโภชนาการ ในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
                วัสดุและวิธีการ : เป็นการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้า ในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือ ระยะแพร่กระจาย ซึ่งได้รับยาเคมีบำบัดที่หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2557 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 50 ราย ถูกสุ่มแบ่งเป็น กลุ่มได้รับคำแนะนำด้านการรับประทานอาหารจากนักโภชนาการก่อนได้รับยาเคมีบำบัด และกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ โดยประเมินผลหลังจากได้ยาเคมีบำบัด 3-4 ครั้ง และ 6-8 ครั้ง หรือติดตามไปอีก 2 เดือน หากหยุดยาเคมีบำบัดไปก่อน
                ผลการศึกษา : กลุ่มได้รับคำแนะนำด้านการรับประทานอาหารจากนักโภชนาการ มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวร้อยละ 2.29 (±6.20) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติที่น้ำหนักลดลงร้อยละ 1.70 (±6.23), p = 0.03 และมีดัชนีมวลกาย (body mass index) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.27 (±6.09) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติที่ลดลงร้อยละ 1.53 (±5.92),  p = 0.03 ในช่วงหลังได้ยาเคมีบำบัด 3-4 ครั้ง และสามารถคงน้ำหนักให้เท่าเดิมได้หลังจากติดตามผลไป 2 เดือน แต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้กลุ่มที่ได้รับคำแนะนำด้านการรับประทานอาหารจากนักโภชนาการมีค่าเฉลี่ย PG-SGA score ลดลงเหลือ 6.67 (±1.99) เทียบกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติที่มีค่า 10.04 (±3.73), p <0.001 และค่าคะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 39.40 (±10.61) เทียบกับ 46.16 (±7.55), p = 0.01 ในช่วงหลังได้ยาเคมีบำบัด 3-4 ครั้ง และหลังจากติดตามผลไป 2 เดือน ส่วนค่า absolute lymphocyte count, serum albumin พลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน จำนวนผู้ป่วยที่ถูกเลื่อนการรับยาเคมีบำบัด สาเหตุของการเลื่อนยาเคมีบำบัด และจำนวนครั้งของยาเคมีบำบัดได้รับ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
                สรุป : การให้คำแนะนำด้านการรับประทานอาหารจากนักโภชนาการ สามารถช่วยทำให้น้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย PG-SGA score และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้หรือระยะแพร่กระจาย ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดดีขึ้น เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการคัดกรองภาวะทุพโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งทุกราย และรีบให้การรักษาทางด้านโภชนาการตั้งแต่เริ่มแรก
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, December ปีที่: 99 ฉบับที่ 12 หน้า 1283-1290
คำสำคัญ
Cancer, chemotherapy, malnutrition, Dietary counseling