ประสิทธิภาพของยา Donepezil ในการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น: การศึกษาเปรียบเทียบกับยาหลอก
นิรันดร์ หุ่นฉายศรี*, วรปภัส เฉลิมสุวิวัฒนาการ
Department of Otolaryngology, Faculty of Medicine, Srinakharinwirot University, 62 Moo 7 Rangsit-Nakhon Nayok Road, Ongkarak, Nakhon Nayok 26120, Thailand; Phone: +66-37-395085, Fax: +66-37-395087; E-mail: niranhun@gmail.com
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : การรักษาผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ประกอบด้วยการผ่าตัดเช่นการผ่าตัดลิ้นไก่และเพดานอ่อน และการรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การใช้เครื่องอัดอากาศ การลดน้ำหนัก การใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรมและการใช้ยาบางตัว ตามที่ได้มีการแสดงว่าระบบประสาท cholinergic มีความสำคัญต่อการควบคุมการหายใจและการหยุดหายใจขณะหลับ จึงมีการศึกษาการใช้ยา donepezil เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านเอนไซม์ acetylcholine esterase ทำให้ระบบ cholinergic ทำงานดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะหลับ มีการศึกษาประสิทธิภาพของยา donepezil ในผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นพบว่าทำให้ค่า apnea-hypopnea index (AHI) และค่า oxygen saturation ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษาและยาหลอก
                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของยา Donepezil ในการรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
                วัสดุและวิธีการ : เป็นการศึกษาไปข้างหน้าแบบสุ่มในโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจากการตรวจ polysomnography และทำแบบสอบถาม Epworth Sleepiness Scale จะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยการสุ่ม กลุ่มทดลองจะให้รับประทานยา donepezil วันละ 1 เม็ด (5 มก.) ใน 4 สัปดาห์แรกและเพิ่มเป็น 2 เม็ดใน 4 สัปดาห์ถัดมา ส่วนกลุ่มควบคุมจะให้รับประทานยาหลอกในขนาดเดียวกัน การประเมินผลใช้ค่า AHI, minimum oxygen saturation (minimum SpO2) และคะแนน  Epworth Sleepiness Scale เปรียบเทียบก่อนและหลังการศึกษา
                ผลการศึกษา : มีผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นจำนวนทั้งสิ้น 41 ราย เป็นผู้ป่วยในกลุ่มทดลอง 21 ราย กลุ่มควบคุม 20 ราย ก่อนการทดลองไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่อง อายุเฉลี่ย (p = 0.53) ค่าดัชนีมวลกาย (p = 0.80) เพศชาย/เพศหญิง (p = 0.44) Minimum SpO2 (p = 0.36) คะแนน Epworth Sleepiness Scale (p = 0.86) และค่า AHI (p = 0.06) ในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ของค่า AHI, minimum SpO2 และคะแนน Epworth sleepiness Scale ภายในกลุ่มเดียวกันและระหว่างกลุ่ม
                สรุป : การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นด้วยยา donepezil ได้ผลลัพธ์ไม่ดีกว่ายาหลอก
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, November ปีที่: 99 ฉบับที่ Suppl8 หน้า S31-S35
คำสำคัญ
Obstructive sleep apnea, donepezil