การทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบการรับประทานโซเดียมฟอสเฟต ภายในเวลา 30 นาที กับภายในเวลา 75 นาที ในการเตรียมส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
ชาญปรีชา จันทรจำนง, ทัศนี ศิริรัตนประพันธ์*, นิภา ออประเสริฐ, บุญชัย งามสิริมาศ, ประยุทธ ศิริวงษ์, สมบุญ เจริญเศรษฐมห
Nursing Department, BMA Medical College and Vajira Hospital
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอาการคลื่นไส้ อาเจียน และความสะอาดของลำไส้ใหญ่ ด้วยการรับประทานโซเดียมฟอสเฟต ปริมาณ 90 มล. ภายใน 30 นาที กับภายในเวลา 75 นาทีในการเตรียมส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลองแบบ prospective, randomized controlled study กลุ่มตัวอย่าง:  ผู้ป่วยที่เข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ในหน่วยศัลยกรรมส่องกล้อง ภาควิชาศัลยศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล จำนวน 213 ราย ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ.2548 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2548 วิธีดำเนินการวิจัย: ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และยินยอมเข้าร่วมโครงการ ได้รับการสุ่มคัดเลือกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มควบคุมที่รับประทานโซเดียมฟอสเฟต ภายในเวลา 30 นาที จำนวน 99 รายกับกลุ่มทดลองที่รับประทานโซเดียมฟอสเฟต ภายในเวลา 75 นาที จำนวน 114 ราย กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทำการเก็บข้อมูลของอาการคลื่นไส้และอาเจียน โดยการใช้แบบสัมภาษณ์ และประเมินความสะอาดของลำไส้ใหญ่จากเกณฑ์ที่มีการตกลงร่วมกัน ในการวิจัยผู้เก็บข้อมูลและผู้ประเมินไม่ทราบล่วงหน้าว่าผู้ป่วยได้รับการเตรียมลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีใด ตัววัดที่สำคัญ: อัตราการเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และคะแนนความสะอาดของลำไส้ใหญ่ ผลการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานโซเดียมฟอสเฟต ปริมาณ 90 มล. พบอาการคลื่นไส้ ร้อยละ 71.1 ในกลุ่ม 30 นาที และ 45.6 ในกลุ่ม 75 นาที ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) พบอาเจียน ร้อยละ 45.4 ในกลุ่ม 30 นาที และ 27.2 ในกลุ่ม 75 นาที ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) สำหรับค่าคะแนนความสะอาดของลำไส้ใหญ่มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.4 ทั้งสองกลุ่ม สรุป: การเตรียมลำไส้ใหญ่สำหรับการส่องกล้องตรวจ ด้วยการรับประทานโซเดียมฟอสเฟต ปริมาณ 90 มล. ให้หมดภายในเวลา 75 นาที นอกจากจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ และอาเจียน ที่น้อยกว่าการรับประทานให้หมดภายในเวลา 30 นาที ยังไม่ทำให้ความสะอาดของลำไส้ใหญ่ลดลงแต่อย่างใด
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2549, January-April ปีที่: 50 ฉบับที่ 1 หน้า 1-8
คำสำคัญ
Nausea, Vomiting, Bowel preparation, Colonoscopy, Oral sodium phosphate