การทดลองสุ่มเปรียบเทียบการให้อาหารธรรมดาเป็นมื้อแรกกับการให้อาหารตามลำดับในผู้ป่วยผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง
ชาญวิทย์ พันธุมะผล
Division of Obstetrics and Gynecology, Taksin Hospital
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: 1. เพื่อเปรียบเทียบอาการลำไส้อืด ระหว่างผู้ป่วยที่รับประทานอาหารธรรมดาเป็นมื้อแรกกับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารตามลำดับหลังจากการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง  2. เพื่อเปรียบเทียบระยะเวลาที่ผู้ป่วยพร้อมกลับบ้าน ระหว่างผู้ป่วยที่รับประทานอาหารธรรมดาเป็นมื้อแรกกับผู้ป่วยที่รับประทานอาหารตามลำดับหลังจากการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง รูปแบบการวิจัย: Prospective randomized controlled trial สถานที่ทำวิจัย: กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลตากสิน กลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและยินยอมเข้าร่วมการวิจัย จำนวน 144 ราย ในระหว่างเดือนกันยายน ถึงเดือนพฤศจิกายน 2547 วิธีดำเนินการวิจัย: แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธี block of four randomization หลังจากฟังได้เสียงการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ในกลุ่มควบคุมจะให้รับประทานอาหารตามลำดับ ส่วนในกลุ่มศึกษาจะให้รับประทานอาหารธรรมดา เก็บข้อมูลลักษณะทั่วไปของผู้ป่วย, ข้อมูลระหว่างและหลังการผ่าตัด, อาการลำไส้อืดและระยะเวลาที่ผู้ป่วยพร้อมกลับบ้าน ทำการเปรียบเทียบทางสถิติ ตัววัดที่สำคัญ:  จำนวนร้อยละของผู้ป่วยที่มีอาการลำไส้อืด (ileus) และระยะเวลาที่ผู้ป่วยพร้อมกลับบ้าน ผลการวิจัย: ลักษณะทั่วไปของทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน ข้อมูลในระหว่างการผ่าตัด ข้อมูลหลังการผ่าตัดมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับอาการลำไส้อืดและระยะเวลาที่ผู้ป่วยพร้อมกลับบ้านก็ไม่มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ยกเว้นปริมาณอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานได้โดยเฉลี่ยในแต่ละมื้อในกลุ่มควบคุมมีมากกว่ากลุ่มศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (91.4 ± 10.2 % และ 77.3 ± 16.5 %, p-value = 0.01) สรุป: ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องสามารถเริ่มให้รับประทานอาหารธรรมดาแทนการให้รับประทานอาหารตามลำดับได้ โดยไม่เพิ่มภาวะแทรกซ้อนแต่ประการใด
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2548, January-April ปีที่: 49 ฉบับที่ 1 หน้า 1-9