ผลของการนวดกดจุดสะท้อนที่ฝ่าเท้าต่อความรู้สึกปวดและความรู้สึกทุกข์ทรมานจากความปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
อุไร ยอดแก้ว*, วงจันทร์ เพชรพิเชษฐ์เชียร, วิมลรัตน์ จงเจริญ
โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการวิจัย : เพื่อวัดซ้ำถึงประสิทธิผลของการนวดกดจุดสะท้อนที่ฝ่าเท้าต่อระดับความรู้สึกปวดและความรู้สึกทุกข์ทรมานจากความปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
                การออกแบบการวิจัย : เป็นการวิจัยเชิงทดลองกลุ่มเดี่ยว แบบวัดก่อนและหลังการทดลอง
                การดำเนินการวิจัย : กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีความปวดและไม่อยู่ในระยะลุกลามที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์มะเร็งสุราษฎร์ธานีจำนวน 30 ราย โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการสุ่มเพื่อทำการนวดฝ่าเท้า 3 แบบ (three-arm randomized, crossover design) คือการนวดแบบติดต่อกัน 3 วัน การนวดแบบวันเว้นวัน และการนวดหลอก โดยเว้นช่วงห่าง 3 วัน เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความรู้สึกปวดและรัดบความรู้สึกทุกข์ทรมานจากความปวดของผู้ป่วยโรคมะเร็งก่อนและหลัง การนวด 3 แบบ วัดตัวแปรที่ศึกษา 7 ครั้ง คือก่อนการนวด หลังการนวดทันที หลังการนวด 24, 48, 72, 96 และ 120 ชั่วโมง เก็บข้อมูลโดยวิธีปกปิดทางเดียว (single-blind technique) ใช้สถิติบรรยายในการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยวิธีแจกแจงความถี่และร้อยละ ใช้คะแนนจากค่ามัธยฐาน ส่วนเบี่ยงเบนควอไทล์ ร่วมกับค่าเฉลี่ยของลำดับในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับความรู้สึกปวด และข้อมูลระดับความรู้สึกทุกข์ทรมานจากความปวด และใช้สถิติไฟรด์แมน (Friedman’s test) ในการเปรียบเทียบระดับคะแนนความรู้สึกปวด และระดับคะแนนความรู้สึกทุกข์ทรมานจากความปวดก่อน และหลังการนวด ณ เวลาต่างๆ
                ผลการวิจัย : ภายหลังได้รับการนวดฝ่าเท้าทั้ง 3 แบบ ระดับคะแนนความรู้สึกปวด และระดับคะแนนความรู้สึกทุกข์ทรมานจากความปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) และภายหลังการนวดทนที หลังการนวด 24, 48, 72, 96 และ 120 ชั่วโมง การนวดแบบติดต่อกัน 3 วัน มีคะแนนระดับความรู้สึกปวดต่ำกว่าการนวดหลอก และการนวดแบบวันเว้นวัน ตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
                ข้อเสนอแนะ : ในทางปฏิบัติควรนวดแบบวันเว้นวันไปเรื่อยๆ และควรนวดกับผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดเพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิผลของการนวด และป้องกันผลข้างเคียงจากการนวด     
 
ที่มา
วารสารสภาการพยาบาล ปี 2559, October-December ปีที่: 31 ฉบับที่ 4 หน้า 5-19
คำสำคัญ
pain, ความปวด, Cancer patients, Reflexology, experimental research, การนวดกดจุดสะท้อนที่ฝ่าเท้า, ผู้ป่วยโรคมะเร็ง, การวิจัยเชิงทดลอง