ประสิทธิผลของเครื่องมือส่องไฟหลอดแอลอีดีที่ผลิตเองสำหรับรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลืองเปรียบเทียบระหว่างโคมส่องไฟแอลอีดีและเตียงส่องไฟแอลอีดี
ณพล จิตรศรีศักดา*, แสงแข ชำนาญวนกิจ
กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
บทคัดย่อ
 ความเป็นมา : ปัจจุบันทารกที่มีภาวะตัวเหลือง มักจะรักษาด้วยการใช้โคมส่องไฟแอลอีดี แต่เนื่องจากโคมส่องไฟมีขนาดใหญ่ มีปัญหาในด้านการเคลื่อนย้าย จึงมีการดัดแปลงโดยการส่องไฟแอลอีดีจากด้านล่างของทารก
                วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดระดับบิลิรูบินในเลือดของทารกที่มีภาวะตัวเหลืองระหว่างการส่องไฟด้วยหลอดอีมิดทิงค์ไดโอดส์ (แอลอีดี) 2 ชนิด ที่ประกอบขึ้นเอง คือ โคมส่องไฟแอลอีดีแบบเดิม และส่องไฟด้วยเตียงแอลอีดีที่วางใต้เตียงของทารก
                วิธีการศึกษา : ทารกแรกเกิดอายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ และมีน้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 2,500 กรัมขึ้นไป คะแนน แอ๊พการ์ที่ 5 นาที มากกว่า 5 อายุมากกว่า 24 ชั่วโมง และไม่เกิน 14 วัน ที่มีภาวะตัวเหลืองและมีข้อบ่งชี้ในการรักษาโดยการส่องไฟ จะได้รับการจัดเข้ากลุ่มด้วยวิธีการสุ่ม คือ กลุ่ม 1 ส่องไฟด้วยโคมส่องไฟแอลอีดีแบบเดิม และกลุ่ม 2 ส่องไฟด้วยเตียงแอลอีดีที่วางใต้เตียงของทารก โดยกำหนดให้ได้ความเข้มแสงมากกว่า 30 ไมโครวัตต์ต่อตารางเซนติเมตรต่อนาโนเมตรทั้งสองกลุ่ม ประเมินระดับบิลิรูบินและความเข้มข้นของเลือดก่อน ส่องไฟ ที่ 12, 24 ชั่วโมงภายหลังเริ่มส่องไฟ และที่ 4 ชั่วโมง ภายหลังหยุดส่องไฟ มีการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการส่องไฟ ได้แก่ น้ำหนักลด ไข้ และภาวะตัวเย็น เป็นต้น
                ผลการศึกษา : ทารกเข้าร่วมการศึกษา 84 ราย แบ่งเป็นกลุ่มละ 42 ราย ทารกทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันในอายุ เพศ น้ำหนักแรกเกิด อายุที่เริ่มส่องไฟ ระดับบิลิรูบินในเลือดเมื่อเริ่มส่องไฟของทารกกลุ่ม 1 (14.5 มก./ดล.) สูงกว่ากลุ่ม 2 (13.6 มก./ดล.) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.0019) ภายหลังส่องไฟที่ 12-24 ชั่วโมง ทารกกลุ่ม 1 มีระดับบิลิรูบิน (8.0 มก./ดล.) ต่ำกว่ากลุ่ม 2 (9.0 มก./ดล.) (p = 0.033) และอัตราการลดลงของระดับบิลิรูบินในกลุ่ม 1 มากกว่ากลุ่ม 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.01) ทารกกลุ่ม 1 มีน้ำหนักลดลงที่ 24 ชั่วโมงภายหลังส่องไฟ น้อยกว่ากลุ่ม 2 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.04)
                สรุป : โคมส่องไฟและเตียงส่องไฟแอลอีดีมีประสิทธิผลในการรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลือง แต่โคมส่องไฟลดระดับบิลิรูบินในเลือดได้ดีกว่าเตียงส่องไฟ
 
 
ที่มา
เวชสารแพทย์ทหารบก ปี 2559, July-September ปีที่: 69 ฉบับที่ 3 หน้า 107-113
คำสำคัญ
phototherapy, Neonatal hyperbilirubinemia, LED, ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด, การส่องไฟ, แอลอีดี