ผลของการนวดและ/หรือการประคบร้อน ต่อระดับความปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว และการรับรู้ประสบการณ์การคลอดของผู้คลอดครรภ์แรก
จิราวรรณ คล้ายวิเศษ, ศรีสมร ภูมนสกุล*, จรัสศรี ธีระกุลชัย
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
 การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการนวด การประคบร้อน และการนวดร่วมกับการประคบร้อนต่อระดับความปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว และการรับรู้ประสบการณ์การคลอดของผู้คลอดครรภ์แรก โดยใช้ทฤษฎีควบคุมประตูของเมลแซ็คและวอลล์เป็นกรอบแนวคิด กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้คลอดครรภ์แรก ถูกเลือกแบบเจาะจง จำนวน 63 ราย และสุ่มเข้ากลุ่มทดลอง 3 กลุ่ม กลุ่มละ 21 ราย ที่ได้รับการนวด การประคบร้อน และการนวดร่วมกับการประคบร้อนโดยผู้วิจัย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบมาตรสีวัดความปวดของสจ๊วตและแบบสอบถามการรับรู้ประสบการณ์การคลอด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบไคสแควร์ การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียว และการเปรียบเทียบพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า ผู้คลองครรภ์แรกที่ได้รับการบรรเทาความปวดโดยการนวดร่วมกับการประคบร้อนมีระดับความปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็วต่ำกว่า และมีการรับรู้ประสบการณ์การคลอดดีกว่าผู้คลอดครรภ์แรกที่ได้รับการนวดหรือการประคบร้อนเพียงอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และผู้คลอดครรภ์แรกที่ได้รับการนวดมีระดับความปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว และการรับรู้ประสบการณ์คลอดไม่แตกต่างจากผู้คลอดครรภ์แรกที่ได้รับการประคบร้อน ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การนวดและการประคบร้อนบรรเทาความปวดได้ดีขึ้น เมื่อนำมาใช้ร่วมกันจะมีประสิทธิภาพ จึงควรนำมาใช้บรรเทาความปวดผู้คลอดในระยะคลอด
 
ที่มา
รามาธิบดีพยาบาลสาร ปี 2559, September-December ปีที่: 22 ฉบับที่ 3 หน้า 263-276
คำสำคัญ
labor pain, การเจ็บครรภ์คลอด, การประคบร้อน, massage, การนวด, hot compress, Active phase, Perception of birth experience, ระยะปากมดลูกเปิดเร็ว, การรับรู้, ประสบการณ์การคลอด