ผลการบริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยนอกโรคจิตเภท: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม
ธรัลหทัย วิริยะสิริสกุล, ฐชานันท์ อิสริยะชัยกุล, จันทร์ทิพย์ กาญจนศิลป, สายทิพย์ สุทธิรักษา*
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบผลของการบริบาลทางเภสัชกรรมกับบริการตามปกติในผู้ป่วยนอกโรคจิตเภทในเรื่องของความร่วมมือในการใช้ยา ความรู้เรื่องโรค และปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา
                วิธีการ : แบบของการวิจัยเป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่เก็บข้อมูลไปข้างหน้า ตัวอย่างเป็นผู้ป่วยนอกโรคจิตเภทในคลินิกลีลาวดี โรงพยาบาลมหาสารคาม จำนวน 69 ราย ผู้วิจัยสุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มควบคุม (37 ราย) ซึ่งได้รับบริการตามปกติ และกลุ่มทดลอง (32 ราย) ซึ่งได้รับความรู้เรื่องโรคและการรักษา บริบาลทางเภสัชกรรม ร่วมกับการโทรศัพท์ติดตามสัปดาห์ละครั้ง นาน 4 สัปดาห์ (วันที่ 7, 14, 21, และ 28)
                ผลการวิจัย : ขณะแรกรับ เพศ อายุ การมีผู้ดูแล ความร่วมมือในการใช้ยา ความรู้เกี่ยวกับโรคและยา และปัญหาการใช้ยาในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นกลุ่มควบคุมลืมรับประทานยามากกว่ากลุ่มทดลอง เมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่า ความร่วมมือในการใช้ยาของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน (p=0.109) กลุ่มทดลองมีความรู้เรื่องโรคและยามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.001) เมื่อเปรียบเทียบภายในแต่ละกลุ่มตัวอย่างพบว่า อาการไม่พึงประสงค์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม (p<0.001 และ p=0.002 ตามลำดับ)
                สรุป : การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกโรคจิตเภท พร้อมกับการให้ความรู้และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากยา พร้อมให้คู่มือ และติดตามผู้ป่วยทางโทรศัพท์สามารถเพิ่มความรู้เกี่ยวกับโรคและยา และลดปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาบางประการได้
 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2559, July-December ปีที่: 8 ฉบับที่ 2 หน้า 377-387
คำสำคัญ
Schizophrenia, Compliance, โรคจิตเภท, Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, ปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา, ความร่วมมือในการใช้ยา, telephone monitoring, drug related problem, การโทรศัพท์ติดตาม