ผลการให้บริบาลทางเภสัชกรรมตามแนวทางการรักษาผู้ป่วยไมเกรนในร้านยามหาวิทยาลัย: การศึกษานาร่อง
ปรางทิพย์ ล้อดงบัง, รณิดา เดชะ, วัลยา สุนทรา, สุดา นันกลาง, รจเรศ หาญรินทร์, สายทิพย์ สุทธิรักษา*
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างกลุ่มผู้ป่วยไมเกรนที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมตามแนวทางการรักษาไมเกรนและกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติของร้านยา
                วิธีการ : เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่ม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2554 ผู้เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 46 คน ถูกสุ่มแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมตามแนวทางการรักษาไมเกรนจำนวน 23 คน (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มที่ได้รับการรักษาตามปกติของร้านยา 23 คน (กลุ่มควบคุม) ผู้วิจัยติดตามระดับความปวด ความถี่ของการปวดไมเกรน และสุขภาวะและความสุขโดยรวมเป็นเวลา 2 เดือน
                ผลการวิจัย : กลุ่มทดลองละกลุ่มควบคุมมีระดับความปวดและความถี่ในการปวดไมเกรนไม่แตกต่างกัน ในวันที่ 1, สัปดาห์ที่ 4 และ 8 (p>0.05) แต่ระดับสุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางปัญญา และความสุขโดยรวมในกลุ่มทดลองมากกว่าควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในสัปดาห์ที่ 4 และสัปดาห์ที่ 8 (p<0.05) นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่ 8 สุขภาวะทางจิตใจในกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)
                สรุป : การให้การบริบาลทางเภสัชกรรมตามแนวทางการรักษาไมเกรนแม้จะไม่มีผลต่อระดับความปวดหรือความถี่ของการปวดไมเกรน รวมถึงสุขภาวะทางกายเมื่อเทียบกับการให้บริการตามปกติในร้านยา แต่พบว่าการบริบาลทางเภสัชกรรมตามแนวทางการรักษาไมเกรนทำให้สุขภาวะด้านสังคม ปัญญา และจิตใจ และความสุชโดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าการให้บริการตามปกติในร้านยาอย่างมีนัยสำคัญ
 
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมไทย ปี 2559, July-December ปีที่: 8 ฉบับที่ 2 หน้า 249-260
คำสำคัญ
Migraine, Pharmaceutical care, การบริบาลทางเภสัชกรรม, ร้านยา, Community pharmacy, ไมเกรน, drugstores, treatment guideline, แนวทางการรักษา, เภสัชกรรมชุมชน