ผลของดนตรีบำบัดต่อระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดคลอด
รัตนา เพิ่มเพ็ชร์, เบญจมาภรณ์ บุตรศรีภูมิ*
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ราชเทวี กรุงเทพฯ ประเทศไทย 10400
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของดนตรีบำบัดต่อระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดคลอด ที่ห้องผ่าตัดสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดคลอด จำนวน 68 ราย ระหว่างเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม 2559 สุ่มกลุ่มตัวอย่างด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์แบบ block randomization เป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 34 คน กลุ่มทดลองได้ฟังดนตรีบำบัดขณะอยู่ที่ห้องรอผ่าตัดนานเวลา 15 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลแบบปกตินานเวลา 15 นาที โดยประเมินความวิตกกังวลของผู้ป่วยด้วยแบบวัดความวิตกกังวลด้วยสายตา ซึ่งประเมินก่อนและหลังได้รับกิจกรรมดนตรีบำบัดหรือกิจกรรมการพยาบาลตามปกติ และเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยด้วยสถิติทดสอบที ชนิด 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน
                ผลการศึกษาพบว่าคะแนนเฉลี่ยความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดคลอดขณะรอการผ่าตัดของกลุ่มทดลองแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดนตรีบำบัดส่งผลให้ระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยขณะรอเข้ารับการผ่าตัดคลอดลดลง จึงมีข้อเสนอแนะให้ส่งเสริมการนำดนตรีบำบัดในช่วงเวลาสั้นๆ ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพยาบาลเพื่อลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด
 
ที่มา
๋Journal of The Royal Thai Army Nurses ปี 2559, September-December ปีที่: 17 ฉบับที่ 3 หน้า 34-43
คำสำคัญ
caesarean section, Music therapy, ดนตรีบำบัด, Anxiety, ความวิตกกังวล, การผ่าตัดคลอด